วิธีใช้คำพูดกับเด็กเล็ก สอนอย่างไรให้ลูกเข้าใจ โดยไม่ใช้คำว่า “อย่า ไม่ ห้าม”

12 Jun 19 pm30 15:22

คุณพ่อคุณแม่คงจะเคยได้ยินกันมาบ้างว่า คำพูดในเชิงปิดกั้น อย่างคำว่า “อย่าทำ” “No” “ห้าม” จะมีผลกับพฤติกรรมของเด็กเล็ก ทำให้ลูกไม่เชื่อฟังคำสั่งของคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องจริงไหม แล้วอย่างนี้พ่อแม่จะเลือกใช้คำพูดอย่างไรมาใช้กับลูก เพื่อบอกให้เขาเข้าใจหรือทำตาม โดยที่ไม่ต้องใช้คำเหล่านี้ มาหาคำตอบกันค่ะ


 

ทำไมลูกถึงไม่ทำตาม 

ยังไม่มีงานวิจัยระบุชัดเจนว่า คำว่า “อย่า” “ไม่” “ห้าม” เป็นคำที่ทำให้เด็กดื้อ หรือมีพฤติกรรมต่อต้าน แต่จากคำอธิบายของกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเด็ก เชื่อว่า สาเหตุที่ทำให้เด็กเล็กในวัยตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป ไม่ทำตามคำสั่งของพ่อแม่ แต่เลือกที่จะทำตรงกันข้ามกับคำสั่ง หรือที่เรียกว่ายิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ อาจมีสาเหตุมาจาก “การทำงานของสมองในเด็ก” ที่ยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ และคำว่า “อย่า” “ไม่” “ห้าม” เป็นคำพูดที่ซับซ้อนเกินไป เด็กเล็กยังต้องเรียนรู้เรื่องความเป็นเหตุเป็นผลก่อนจึงจะสามารถเข้าใจได้ ฉะนั้น เมื่อพ่อแม่พูดว่า “อย่าวิ่ง” เด็กจะเข้าใจแค่ “วิ่ง” เพราะสมองของเขาแปลความแบบง่ายนั้นเอง เลยกลายเป็นลูกดื้อไม่เชื่อฟังไปซะอย่างงั้น 


ดังนั้น อยากให้ลูกทำสิ่งไหน บรรยายด้วยคำง่ายๆ ให้สมองเขาได้แปลงภาพชัดเจน ซึ่งหากว่าคุณพ่อคุณแม่ทำเช่นนี้บ่อยๆ ตัวคุณพ่อคุณแม่เองก็จะเป็นคนที่พูดบวก คิดบวก ใจเย็น และเข้าใจลูกมากขึ้นด้วย


อย่าวิ่ง!! สิ่งที่เกิดขึ้น ยิ่งกว่าจรวดอีก จับไม่ทันเลยทีนี้

ลองพูด >> เดินช้าๆ ก็ได้ลูก


อย่าเสียงดัง!! สิ่งที่เกิดขึ้น ลูกตะโกนเสียงดังความเดิม

ลองพูด >> พูดเบาๆ นะคะลูก


อย่ากิน!! สิ่งที่เกิดขึ้น ลูกจับเข้าปากมันเสียเลย

ลองพูด >> วางลงค่ะ มันเอาไว้เล่น ไม่ใช่ของกิน เอาเข้าปากไม่ได้นะคะลูก


อย่าดื้อ!! สิ่งที่เกิดขึ้น ลูกลงไปนอนดิ้นกับพื้นเลยทีนี้

ลองพูด >> เป็นเด็กดีนะลูก


การพูดเชิงบวกจะช่วยเปลี่ยนพฤติกรรม ทำให้ลูกไม่ปิดกั้นมากเกินไป แต่ถึงอย่างไรก็ตาม หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการที่จะหยุดพฤติกรรมบางอย่างของลูกจริงๆ นอกจากจะเลือกใช้คำที่เหมาะสมกับวัยมาใช้สอนลูกให้เขาเข้าใจแล้ว พ่อแม่ต้องแสดงให้เห็นด้วย ไม่ใช่ใช้แค่เสียงเพียงอย่างเดียว 


ทั้งนี้ทั้งนั้น คำว่า “อย่า” “ไม่” “ห้าม” ก็ใช่ว่าจะห้ามใช้กับเด็กเลยเสียทีเดียว แต่ควรจะเป็นสิ่งที่สำคัญและเป็นอันตรายกับลูกจริงๆ พูดออกไปด้วยน้ำเสียงและท่าทีจริงจัง และต้องสอนเขาว่าทำไมถึงต้องห้าม ไม่ใช่ใช้บ่อยจนกลายเป็นคำพูดติดปาก!!