สูตรคำนวนปริมาณนมที่ลูกน้อยต้องการ อายุ 0 -1 ขวบ ให้กินนมวันละกี่ออนซ์

15 Jul 19 pm31 15:32

สำหรับคุณแม่มือใหม่ที่ต้องการให้นมลูกและอยากรู้ว่าควรให้ลูกน้อยกินนมวันละเท่าไหร่ ถึงจะเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายทารก และไม่ทำให้เกิดภาวะโอเวอร์ฟีดดิ้ง (overfeeding) หรือได้รับนมเกินความจำเป็นของร่างกาย วันนี้ HappyMom.Life มีสูตรคำนวนง่ายๆ จากคุณหมอ มาบอกคุณแม่กันค่ะ



มีงานวิจัยระบุว่า เด็กทารกแต่ละคนนั้น จะต้องการน้ำนมในปริมาณที่ไม่เท่ากัน สำหรับทารกที่มีอายุระหว่าง 1-6 เดือน ที่กินนมแม่เพียงอย่างเดียว จะต้องการน้ำนมวันละ 25 ออนซ์ (750  มิลลิลิตร) หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 19 – 30 ออนซ์ (570 – 900มิลลิลิตร) ต่อวัน


ซึ่งลูกของเราก็ไม่เหมือนลูกคนอื่น ฉะนั้นเราจะมาหาปริมาณน้ำนมเฉลี่ยที่ลูกของเราต้องการในแต่ละมื้อกัน โดยดูจาก

1. น้ำหนักตัวของทารก

2. จำนวณมื้อที่ทารกกินนมในแต่ละวัน (ใน 24 ชั่วโมง หรือแบ่งให้ 6-8 มื้อ/วัน)

3. ตัวเลขที่ได้จะเป็นค่าประมาณน้ำนมแม่ที่ทารกต้องการในแต่ละมื้อ (ออนซ์) 

ซึ่งคุณแม่ที่ปั๊มนมหรือชงนมผงให้ลูกกินจากขวด และต้องการทราบปริมาณที่แน่ชัดว่าควรให้ลูกกินนมวันละเท่าไหร่ จะสามารถคำนวณหาปริมาณนมที่ลูกควรกินในแต่ละวันได้ ดังนี้


ทารกอายุแรกเกิด-1 เดือน ใช้สูตรคำนวณ คือ น้ำหนักทารก (กก.) คูณ 150 ซีซี หารด้วย 30

ตัวอย่างเช่น ทารกแรกเกิดน้ำหนัก 3 กก. คำนวณได้คือ (3×150) หาร 30 = 15 ออนซ์ หรือ ปริมาณ 450 ซีซี/วัน เป็นปริมาณออนซ์ของนมที่ต้องใช้ใน 1 วัน (1 ออนซ์เท่ากับ 30 ซีซี) แบ่งให้ทานกี่มื้อ เอาจำนวนมื้อมาหาร เช่น 1 วัน ให้ลูกกิน 6 มื้อ ก็จะได้ 15 ÷ 6 เท่ากับ 2.5 คือแต่ละมื้อให้ลูกกินนมประมาณ 2.5 ออนซ์ (แต่ภายใน 1 เดือนแรก ถ้าคุณแม่ไม่ได้มีปัญหาอะไร ควรให้ลูกกินจากเต้าอย่างเดียว เพื่อป้องกันปัญหาลูกสับสนจุกนมหัวเต้านมแม่)

ทารกอายุ 1-6 เดือน ใช้สูตรคำนวณ คือ น้ำหนักทารก (กก.) คูณ 120 ซีซี หารด้วย 30

ตัวอย่างเช่น ลูกอายุ 4 เดือน น้ำหนัก 6 กก. คำนวณได้คือ (6×120) หาร 30 = 24 ออนซ์ เป็นปริมาณออนซ์ของนมที่ต้องใช้ใน 1 วัน (ยังใช้สูตรชม.ละออนซ์ ได้เหมือนเดิม) หรือถ้าลูกกิน 8 มื้อ ก็จะได้ 24 ÷ 8 เท่ากับให้ลูกกินนมประมาณมื้อละ 3 ออนซ์

** ช่วงอายุ 5-6 เดือน เด็กส่วนใหญ่ จะกินน้อยลงอีก เพราะห่วงเล่น โดยเฉลี่ยจะกิน 24 ออนซ์ บวกลบ 4 ออนซ์ ช่วงนี้น้ำหนักจะขึ้นเดือนละ 4 ขีด


ทารก 6-12 เดือน ใช้สูตรคำนวณ คือ น้ำหนักทารก (กก.) คูณ 110 ซีซี หารด้วย 30

ตัวอย่างเช่น ลูกอายุ 6 เดือน น้ำหนัก 6.5 กก. คำนวณได้คือ (6.5X110) = 715 ÷ 30 เท่ากับ 23.83 ปัดเป็น 24 ออนซ์/วัน เหมือนเดิม แต่จะเพิ่ม คือ ข้าว 1 มื้อ มื้อละ 5-8 ชต. สำหรับเด็ก 6 เดือน , ข้าว 2 มื้อ สำหรับเด็ก 9 เดือน, ข้าว 3 มื้อ สำหรับเด็ก 12 เดือน

หลังจากครบ 1 ขวบขึ้นไป ข้าวจะเป็นอาหารหลัก ส่วนนมจะลดบทบาทเป็นเพียงอาหารเสริม เด็กช่วงนี้จะต้องการแคลเซียม วันละ 500 มก. หรือเทียบเท่ากับนมปริมาณ 500 ซีซี โดยสามารถกินนมแม่ได้จนกว่าฟันแท้จะขึ้น


การบอกจำนวนสำหรับเด็กที่กินนมจากเต้านมแม่นั้น อาจเป็นเรื่องที่คำนวนได้ยาก แแต่ถ้าให้ลูกกินนมอิ่มพอดี คือ นอนหลับสบาย ไม่งอแง น้ำหนักขึ้นตามเกณฑ์ เท่านี้ ก็ถือเป็นการกินนมที่เพียงพอกับลูกของเราแล้ว


ข้อมูลอ้างอิง : คุณหมอ สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์เด็กแรกเกิด


บทความที่เกี่ยวข้อง