ลูกน้อยมีนิ้วเกิน 20 นิ้ว ไม่รีบรักษาอาจเป็นปัญหากับเด็กในอนาคต

06 Aug 19 pm31 15:58

พ่อแม่ทุกคนย่อมหวังให้ลูกเกิดมาแข็งแรงสมบูรณ์ มีอวัยวะครบ 32 ไม่พิกลพิการ แต่บางครั้งเราก็ไม่อาจฝืนพันธุกรรมหรือยีนเด่นที่ถือเป็นความผิดปกติของร่างกายของลูกน้อยได้ อย่าง ภาวะจํานวนนิ้วเกิน ที่ถือเป็นความผิดปกติที่พบได้บ่อยถึง 1 : 1,000-10,000 ของเด็กแรกเกิดในเอเชีย ซึ่งแม้ว่าจำนวนนิ้วที่เกินมาจาก 20 นิ้วปกตินั้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทารก แต่ในอนาคต เด็กอาจรู้สึกมีปมด้อยหรือทำให้เด็กถูกล้อได้



นิ้วเกิน เกิดจากสาเหตุอะไร

นิ้วเกิน (Polydactyly) เป็นภาวะที่มือหรือเท้าแต่ละข้างมีนิ้วมากกว่า 5 นิ้ว ตั้งแต่กําเนิด ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติในการสร้างนิ้วมือหรือเท้าของทารกในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ หรืออาจเกิดการแบ่งเซลล์ในระยะสร้างนิ้วแปรปรวน ทั้งนี้แพทย์ยังไม่สามารถบอกได้แน่ชัด แต่ภาวะนิ้วเกินบางชนิดพบว่ามีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้


นพ.วีระศักดิ์ ธรรมคุณานนท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคทางกระดูกเด็ก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข อธิบายว่า  ปัญหานิ้วเกินทั้งนิ้วมือและนิ้วเท้า เป็นความผิดปกติของโครงสร้างที่พบได้บ่อย บางคนพบได้ทั้งมือและเท้าข้างละ 6 นิ้ว  หรือ 7 นิ้ว โดยมากนิ้วมือที่เกินมามักจะอยู่ฝั่งนิ้วโป้ง ส่วนความผิดปกติของนิ้วที่เกินมา จะมีความแตกต่างกัน อย่างนิ้วโป้งบางรายก็แยกตรงปลายๆ มีเล็บเพี้ยนไป บางรายก็แยกตั้งแต่โคนนิ้ว บางรายเป็นแค่ติ่ง ๆ เนื้อเล็กน้อยก็มี


ลักษณะของนิ้วเกิน

- สัมพันธ์กับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือไม่ก็ได้

- มักมีอาการนิ้วมือเกินข้างเดียว (unilateral)

- สามารถแบ่งความผิดปกติได้หลายแบบตาม Wassel classification


Journal of Children's Orthopaedics


การรักษานิ้วเกิน

- ควรผ่าตัดในช่วงอายุ 12-18 เดือน หรือก่อนเข้าเรียน เพื่อที่โครงสร้างของกระดูก ข้อต่อ และกล้ามเนื้อโคนนิ้วพัฒนาได้อย่างเหมาะสมและไม่มีการเอียงผิดรูป

- นิ้วหัวแม่มือเกิน อาจพบร่วมกับโรคทางพันธุกรรมอื่นๆ ได้เช่น Holt-Oram syndrome, Fanconi anemia


ในกรณีที่นิ้วเกินเป็นติ่งเล็กๆ โดยที่โคนไม่มีกระดูกเชื่อมต่อกัน นิ้วเกินชนิดนี้จะไม่มีผลต่อกระดูกและข้อต่อของนิ้วหัวแม่มือ สามารถรักษาได้โดยตัดโคนออก ซึ่งรักษาง่าย อาจทําตั้งแต่แรกคลอด หรือผูกขั้วโคนนิ้วที่ติดกันให้เนื้อเยื่อตายและหลุดไปเองหรือตัดออกในเวลาใดก็ได้ เพราะไม่มีผลต่อการผิดรูปของนิ้วปกติ แต่ในกรณีที่นิ้วเกินมีกระดูกเชื่อมต่อหรือใช้ข้อต่อร่วมกันกับนิ้วปกติ การผ่าตัดจะมีความซับซ้อนขึ้น ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ แต่อย่างไรก็ตามหากพบว่าลูกมีนิ้วมือนิ้วเท้าผิดปกติ   ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะรักษาตั้งแต่อายุยังน้อยจะแก้ไขได้ดีกว่า


บทความที่เกี่ยวข้อง

คุณแม่ตั้งท้องควรตรวจอัลตร้าซาวด์ครั้งแรกตอนไหน กี่สัปดาห์ถึงจะรู้เพศลูก