เอกสารและขั้นตอนต่าง ๆ ในการแจ้งเกิดลูกและทำสูติบัตรที่คุณแม่ต้องจัดเตรียม

21 Sep 18 pm30 13:43

เข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ใกล้จะได้เห็นหน้าทารกในครรภ์ที่พร้อมออกมาลืมตาดูโลกกันแล้ว ในระหว่างนี้มีเรื่องให้คุณแม่ต้องเตรียมหลายเรื่องเลยนะคะ ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมสภาพร่างกายและจิตใจให้พร้อมก่อนคลอด เตรียมของไปโรงพยาบาล และยังมีอีกหนึ่งเรื่องที่คุณแม่มือใหม่ต้องจัดการก็คือการแจ้งเกิดลูกนั่นเอง  


การแจ้งเกิดลูกและทำสูติบัตรที่คุณแม่ต้องจัดเตรียม

mjakmama24.pl


ในการแจ้งเกิดตามที่กฎหมายระบุไว้นี้มีเอกสารและขั้นตอนต่าง ๆ ที่คุณแม่ต้องเตรียมให้พร้อมนะคะ มาทำความเข้าใจว่าใครมีหน้าที่ที่จะต้องแจ้งเกิดลูกตามกฎหมายและเอกสารที่ต้องใช้ว่ามีอะไรไปพร้อม ๆ กับ Happy Mom.Life จะได้ไม่ต้องกลับมาเอาเอกสารที่ตกหล่นหรือลืมไว้ที่บ้านให้เสียเวลานะคะ


ลูกเกิดที่สถานพยาบาล โรงพยาบาล สถานีอนามัย หรือสถานผดุงครรภ์ :

สถานพยาบาลเหล่านี้จะออกหนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.1/1) ให้กับพ่อหรือแม่ของเด็ก หลังจากนั้นให้พ่อหรือแม่เด็กนำหนังสือรับรองการเกิดไปแจ้งต่อนายทะเบียนในอำเภอ/สำนักงานเขตที่เด็กเกิด เพื่อที่นายทะเบียนจะได้ออกใบสูติบัตรให้

บางโรงพยาบาลได้มีการทำข้อตกลงกับสำนักงานเขต ให้เป็นผู้ดำเนินการแจ้งเกิดและทำสูติบัตรให้ โดยที่พ่อแม่ไม่ต้องเดินทางไปเอง เพียงแค่เตรียมเอกสารและชื่อของลูกไว้ให้พร้อม ทางโรงพยาบาลจะเป็นผู้ดำเนินการให้ และหลังจากนั้นประมาณ 3 สัปดาห์ ทางโรงพยาบาลจะติดต่อพ่อแม่ให้มารับสูติบัตรที่แผนกเวชระเบียน หากไม่สามารถมารับเอง จะต้องมีเอกสารมอบอำนาจจากพ่อแม่เพื่อรับแทน ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกได้อย่างมาก โดยจะต้องไปแจ้งเกิดภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่เกิด หากแจ้งเกิดเกินระยะเวลาที่กำหนด ต้องเสียค่าปรับไม่เกิน 1,000 บาท

เอกสารที่ต้องใช้ : 

- หนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.1/1)
- บัตรประจำตัวประชาชนของพ่อแม่เด็ก หรือผู้แจ้ง (กรณีไม่สามารถไปแจ้งด้วยตัวเอง)
- สำเนาทะเบียนบ้านของเจ้าบ้านที่จะเพิ่มชื่อเด็กเข้าไป


แจ้งเกิดลูกที่ต้องให้ความสำคัญ 


ลูกเกิดนอกสถานพยาบาลหรือเกิดที่บ้าน :

ให้เจ้าบ้านหรือพ่อแม่ของเด็กไปแจ้งต่อผู้ใหญ่บ้าน เพื่อให้ผู้ใหญ่บ้านรับทราบ จากนั้นผู้ใหญ่บ้านจะออกใบรับแจ้งการเกิดให้ หลังจากนั้นให้เจ้าบ้านหรือพ่อแม่ของเด็ก นำใบรับแจ้งการเกิดที่ผู้ใหญ่บ้านออกให้ไปแจ้งต่อนายทะเบียนในอำเภอที่เด็กเกิด เด็กเกิดอำเภอไหนก็ให้ไปแจ้งที่อำเภอนั้น เพื่อที่นายทะเบียนจะได้ออกใบสูติบัตรให้ เพื่อเป็นการยืนยันการเกิดให้กับเด็ก โดยจะต้องไปแจ้งเกิดภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่เกิด หากแจ้งเกิดเกินระยะเวลาที่กำหนด ต้องเสียค่าปรับไม่เกิน 1,000 บาท

เอกสารที่ต้องใช้ :

- บัตรประจำตัวประชาชนของพ่อแม่เด็ก หรือผู้แจ้ง (กรณีไม่สามารถไปแจ้งด้วยตัวเอง)
- ใบรับแจ้งการเกิดที่ผู้ใหญ่บ้านออกให้
- สำเนาทะเบียนบ้านของเจ้าบ้านที่จะเพิ่มชื่อลูกเข้าไป
- พยานบุคคลที่รู้เห็นการเกิดของทารก เช่น หมอตำแย นางพยาบาลทำคลอด เพื่อนบ้าน เป็นต้น


ลูกเกิดที่ต่างประเทศ :

ลูกที่เกิดจากพ่อแม่ที่มีสัญชาติไทย แต่ไปเกิดในต่างประเทศ พ่อแม่หรือบุคคลที่ได้รับมอบหมาย (มีหนังสือมอบอำนาจ) สามารถทำการแจ้งขอสูติบัตรไทยได้ที่สถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ไทยที่ตั้งอยู่ในประเทศนั้น ๆ เมื่อเจ้าหน้าที่กงสุลรับแจ้งการเกิดแล้ว จะออกหลักฐานทะเบียนคนเกิดหรือสูติบัตรให้เป็นหลักฐาน โดยตามกฎหมายไม่ได้กำหนดระยะเวลาแจ้งการเกิดสำหรับคนที่เกิดในต่างประเทศ พ่อแม่สามารถแจ้งการเกิดลูกของตนเองได้ตามความเหมาะสม โดยไม่มีความผิดตามกฎหมาย 

เมื่อเด็กเดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทย ให้พ่อแม่นำสูติบัตรที่เจ้าหน้าที่กงสุลออกให้นั้น (พร้อมหนังสือเดินทางของเด็กที่มีตราประทับเข้าประเทศ) ไปติดต่อกับนายทะเบียนที่อำเภอหรือสำนักงานเขตที่พ่อแม่ของเด็กมีชื่อในทะเบียนบ้าน เพื่อขอเพิ่มชื่อเด็กเข้าในทะเบียนบ้าน

เอกสารที่ต้องใช้ :

- ใบเกิดจากโรงพยาบาลหรือคลินิกที่ทำคลอด
- บัตรประชาชนของพ่อแม่เด็ก พร้อมสำเนา
- ทะเบียนบ้านฉบับจริง พร้อมสำเนา
- หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) พร้อมสำเนา
- รูปถ่ายเด็ก 1 รูป  
- สำเนาทะเบียนสมรส (ถ้ามี)


พ่อแม่แจ้งเกิดลูกตามกฎหมาย 

TrustAnswers.com


การแจ้งเกิดนั้นจะมีผลต่อสัญชาติของลูกนะคะ ถ้าไม่ไปแจ้งเกิด เด็กจะไม่มีสัญชาติ ไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎร์ ไม่มีหมายเลขประจำตัว 13 หลัก การแจ้งเกิดจึงเป็นขั้นตอนแรกที่จะทำให้มีตัวตนทางกฎหมาย และมีเอกสารยืนยันตัวตนที่คุณแม่ต้องให้ความสำคัญนะคะ