5 วิธีง่ายๆ ช่วยสื่อสารกับทารกในครรภ์ บอกให้ลูกรู้ทุกวันว่า "พ่อแม่รักหนูสุดหัวใจ"

26 Sep 18 pm30 16:50

ทารกตัวน้อยๆ คือความมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นในครรภ์คุณแม่ คุณแม่อาจรู้สึกแปลกๆ ที่มีหัวใจดวงเล็กๆ เต้นไหวอยู่ภายในร่างกาย แต่ถึงกระนั้น ก็เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข เฝ้ารอที่จะได้เจอหน้าทารกในครรภ์ทุกวันHappy Mom.life เชื่อว่า ความรักของพ่อแม่สามารถสื่อสารไปถึงทารกน้อยๆ ได้ และจะเป็นตัวช่วยที่ดีที่ทำให้ทารกมีพัฒนาการสมบูรณ์ เกิดมาเป็นเด็กฉลาดและมีสุขภาพจิตดี 

Happy Mom.Life จึงอยากสนับสนุนให้คุณพ่อคุณแม่สื่อสารกับทารกในครรภ์บ่อยๆ โดยอาจใช้วิธีที่เรานำมาฝากในวันนี้เป็นตัวช่วยในการบอกให้ลูกรู้ว่า พ่อแม่รักหนูสุดหัวใจ…


เมื่ออายุครรภ์ประมาณเดือนที่ 5 ขึ้นไป ลูกในท้องจะเริ่มได้ยินเสียง และเริ่มตอบสนองคุณแม่ได้แล้ว การสื่อสารกับลูกในท้อง จึงเป็นเรื่องสำคัญและมีคุณค่ามากในช่วงเวลาจากนี้เป็นต้นไป


1. พูดคุยกับลูก

นอกจากเสียงหัวใจของแม่ และเสียงลมหายใจแล้ว ลูกในท้องยังสามารถยินเสียงของคุณแม่ด้วยนะคะ เสียงที่แสนอบอุ่น อ่อนโยนจะทำให้ทารกรู้สึกคุ้นเคย แม้เมื่อเขาเกิดมาแล้ว เมื่อได้ยินเสียงที่เขาเคยได้ยินตั้งแต่อยู่ในท้อง ทารกก็จะสงบลงและรู้สึกปลอดภัยมากขึ้นได้ เราแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่พูดคุยกับลูกบ่อยๆ โดยพูดช้าๆ ด้วยน้ำเสียงผ่อนคลาย หรืออาจจะเล่านิทานให้ลูกฟังก็ได้ค่ะ


พูดคุยกับลูก


2. เปิดเพลงให้ลูกฟัง

คุณแม่อาจใช้หูฟังจ่อที่หน้าท้องของคุณ และเปิดเพลงเพราะๆ ให้ลูกฟัง ไม่ว่าจะเป็นเพลงคลาสสิก เพลงกล่อมเด็ก หรือเพลงทั่วๆ ไปที่คุณแม่ชอบฟังก็ได้ คุณอาจรู้สึกอัศจรรย์ใจ เมื่อพบว่าทารกในครรภ์ตอบสนองด้วยการเคลื่อนไหวไปพร้อมๆ กับเสียงเพลงที่คุณเปิดให้เขาฟัง


เปิดเพลงให้ลูกฟัง


3. ลูบสัมผัสหน้าท้อง

ทารกในครรภ์สามารถรับรู้ถึงสัมผัสที่อ่อนโยนของคุณแม่ได้จากการลูบสัมผัสหน้าท้อง ทารกจะตอบสนองเป็นการเคลื่อนไหวไปตามสัมผัสที่อบอุ่นจากคุณ นอกจากนี้ คุณแม่อาจให้คุณพ่อนั่งประกบด้านหลัง และช่วยนวดเบาๆ ที่หน้าท้องเพื่อสื่อสารถึงความรักที่คุณพ่อมีแต่แม่และลูกรักได้เช่นกันค่ะ

ข้อมูลเพิ่มเติม : 3 ท่านวดบรรเทาปวด เพิ่มอารมณ์ดี แนะนำคุณสามีนวดเอาใจภรรยาตั้งครรภ์



ลูบสัมผัสหน้าท้อง


4. เล่นกับลูกด้วยไฟฉาย

เมื่ออายุครรภ์ 7 เดือน ทารกในครรภ์จะมีพัฒนาการด้านการมองเห็นที่ดีขึ้น บวกกับหน้าท้องที่บางลงของคุณแม่ ทำให้ทารกในครรภ์สัมผัสถึงความแตกต่างระหว่างความสว่างและความมืดได้ คุณแม่อาจออกไปยืนรับแสงแดดอ่อนๆ ในช่วงเช้า หรืออาจใช้ไฟฉายส่องที่หน้าท้อง สลับกับปิดไฟฉาย พร้อมพูดคุยกับลูกไปพร้อมๆ กัน เป็นการกระตุ้นพัฒนาการด้านการมองเห็นของลูกไปในตัวด้วยค่ะ


ยืนรับแสงแดดอ่อน


5. ทำจิตใจให้สบาย สดชื่น แจ่มใส

ความเครียดของคุณแม่ส่งผลร้ายต่อทารกในครรภ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม หากคุณแม่เครียด ทารกในครรภ์ก็จะเครียดไปด้วย คุณแม่จึงควรทำจิตใจให้สบาย ผ่อนคลาย และมีความสุข ซึ่งจะช่วยให้ทารกในครรภ์มีความสุข สงบ และเกิดมาไม่เป็นเด็กอ่อนไหว ใจร้อนง่ายได้อีกด้วยค่ะ

วิธีต่างๆ เหล่านี้ คุณแม่อาจให้คุณพ่อหรือลูกคนพี่ได้มีส่วนร่วมในการสื่อสารด้วยก็ได้นะคะ จะได้เป็นการสร้างความรักความสัมพันธ์ที่อบอุ่นแน่นแฟ้นในครอบครัว และทำให้ทุกคนมีความสุขร่วมกันค่ะ