“สูบบุหรี่ในบ้าน” ผิดกฏหมาย เอาผิดได้หากคนในบ้านได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่

21 Jun 19 pm30 16:00

คุณแม่ท่านไหนไม่ปลื้มกับพฤติกรรมสูบบุหรี่ในบ้านของคุณสามีหรือคนในครอบครัว ไม่ต้องทนอีกต่อไป เพราะ พ.ร.บ. ฉบับใหม่ เตรียมออกกฎหมายเอาผิดผู้ที่ “สูบบุหรี่ในบ้าน” โดยจะมีผลบังคับใช้ 20 สิงหาคม พ.ศ.2562 นี้ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาด้านสุขภาพของเด็ก คนท้อง หรือคนในครอบครัว ที่เสี่ยงเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังจากการสูดควันบุหรี่



จากการประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 18 "Tobacco and Lung Health" นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 แล้ว และจะมีผลบังคับใช้หลังประกาศ 90 วัน คือในวันที่ 20 ส.ค.2562 นี้ โดย พ.ร.บ.ฉบับนี้จะเน้นการป้องกันความรุนแรงในครอบครัว ส่งเสริมครอบครัว และคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลต่างๆ โดยในส่วนของความรุนแรงในครอบครัว กำหนดไว้ชัดเจนว่าเป็นการกระทำใด ๆ ที่บุคคลในครอบครัวได้กระทำต่อกันโดยเจตนาให้เกิดหรือในลักษณะที่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ เสรีภาพ หรือชื่อเสียงของบุคคลในครอบครัว ซึ่งครอบครัวมี 3 ลักษณะ คือ ตามสายโลหิต ตามพฤตินัย/นิตินัย และบุคคลที่ต้องพึ่งพาอาศัยและอยู่ในครัวเรือนเดียวกัน


รวมถึงการทำอันตรายต่อสุขภาพด้วย ดังนั้น หากคนในครอบครัวได้รับผลกระทบจากการสูบบุหรี่ในบ้าน หรือพบเห็นผู้ที่ได้รับผลกระทบก็สามารถร้องต่อศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัว หรือ พม.จังหวัด เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดูแล และให้บุคลากรทางการแพทย์ตรวจพิสูจน์ ว่าได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากการสูบบุหรี่จริงหรือไม่ และร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ให้สั่งคุ้มครองสวัสดิภาพ โดยสั่งให้ออกห่างจากคู่กรณีและสั่งให้ไปบำบัดรักษาปรับพฤติกรรมได้ 


การสูบบุหรี่ในบ้านของบุคคลในครอบครัว ส่งผลเสีย ดังนี้

1. ทำให้สัมพันธภาพครอบครัวเริ่มลดลง เพราะลูกเมียไม่อยากที่จะเข้าใกล้ หรือลูกเกิดพฤติกรรมเลียนแบบด้วยการสูบบุหรี่

2. เมื่อไม่ได้สูบบุหรี่แล้วจะเกิดอาการหงุดหงิด ก้าวร้าวด้วยท่าทางและวาจา นำไปสู่การก่อความรุนแรงทางร่างกายหรือจิตใจ

3. คนในบ้านได้รับควันบุหรี่มือสอง และมือสาม ซึ่งในกรณีนี้ หากคนในบ้านได้รับผลกระทบ ก็จะเกิดปัญหาสุขภาพ



ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ. ใหม่นี้จะถือว่าผู้ที่สูบบุหรี่ในบ้านมีความผิดในฐานของการก่อความรุนแรงในครอบครัว เพราะทำให้เกิดอันตรายแก่สุขภาพของคนในครอบครัว อาจจะต้องขึ้นศาลเพื่อพิจารณาความผิดทั้งหมด 2 ศาล ได้แก่

1. ศาลอาญา ในกรณีที่มีการทำร้ายทางกาย ก็จะได้รับโทษตามกฎหมายอาญา

2. ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง โดยศาลอาจมีคำสั่งให้คุ้มครองคนในครอบครัว และสั่งบังคับให้ผู้ที่สูบบุหรี่ที่ทำให้เกิดปัญหาในบ้านเข้ารับการบำบัด และเลิกบุหรี่ เพื่อไม่ให้ทำพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความรุนแรงอีก


ส่วนโทษความรุนแรงในครอบครัวก็จะใช้คดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญาแทน ซึ่งโทษขึ้นอยู่กับความรุนแรงที่ได้รับ เรียกว่า 1 คดีส่งขึ้น 2 ศาล จะทำให้เกิดความเกรงกลัวมากขึ้น ทั้งนี้ ไม่ใช่เพียงแค่บุหรี่ แต่การได้รับผลกระทบจากยาเสพติดหรือสุราก็สามารถร้องเอาผิดได้


ขอบคุณข้อมูลจาก สสส. thaihealth.or.th


บทความที่เกี่ยวข้อง