5 เทคนิคลดอาการ “แหวะนม สำรอกนม” ในเด็กทารกแรกเกิด-4 เดือน

15 Jul 19 am31 07:35

อาการแหวะนม เป็นอาการปกติของเด็กทารกที่พบได้บ่อยถึง 70 % ในช่วงแรกเกิด-3 เดือน แล้วจะค่อยๆ ดีขึ้น หลังอายุ 4 เดือนเป็นต้นไป สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากกล้ามเนื้อหูรูดของกระเพาะอาหารยังทำงานได้ไม่ดี เมื่อทารกกินนมมากเกินกว่ากระเพาะจะรับได้ (Over Feeding) จึงเกิดอาการไหลย้อน (GERD) แม้ว่าอาการแหวะนมจะไม่ร้ายแรง แต่ก็อาจเป็นอันตรายกับเด็กได้ ถ้าลูกสำรอกหรือแหวะนมบ่อยเกินไป 

การที่คุณแม่รู้จักสังเกตอาการของลูกและรู้เทคนิคการป้องกันไม่ให้เกิดการแหวะนมสำรอกนมหรืออ้วกหลังกินนม จะเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยป้องกัน “กรดไหลย้อน” ในเด็กทารกได้



 การแหวะนมที่ปกติ คือ

1. มีลักษณะสีขาวคล้ายลิ่มเต้าหู้ ไม่มีเลือด หรือน้ำดีปน

2. หลังแหวะนมทารกยังดูดนมได้ อารมณ์ดี ไม่งอแง

3.  น้ำหนักตัวขึ้นดีอย่างน้อย 20 กรัมต่อวัน


การแหวะนมที่ไม่ปกติ คือ

1. อาเจียนพุ่ง และมากกว่าปกติ

2. นมที่แหวะมากมีเลือดและน้ำดีปนออกมา

3. ลูกไม่สบายตัว หงุดหงิด งอแง

4. มีน้ำหนักตัวขึ้นน้อยกว่า 20 กรัมต่อวันหรือไม่ขึ้น

5. มีอาการรุนแรง หรือเป็นบ่อยขึ้นเมื่ออายุ 6 เดือน ขึ้นไป


จับลูกเรอหลังกินนม


เทคนิคลดอาการ “แหวะนม สำรอกนม” ในเด็กทารกแรกเกิด-4 เดือน

1. พยายามอย่าให้ลูกกินนมมากเกินไป ความหิวจะทำให้ลูกกินนมมากเกินไปและรีบกินนมเร็วกว่าปกติ ฉะนั้น พยายามอย่าปล่อยให้ลูกหิวจัด

2. จับลูกเรอเป็นระยะๆ ตลอดการกินนม -3 ท่า สอนจับทารกวัย 0-3 เดือน “เรอ” หลังกินนมอิ่มแบบเห็นผล

3. ถ้าลูกดูดนมจากขวด คุณแม่ต้องมั่นใจว่าขวดนมไม่ใหญ่เกินไป (มีลมจากขวดเข้าไปในกระเพาะ) ขนาดของจุกนมไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป (ติดไหลเร็ว-ดูดลมเข้าไปแทนนม) วิธีแก้ลูกแหวะนมสำหรับการกินนมขวด คือ ให้ลูกกินนมทีละครึ่ง เช่น สมมุติลูกกินนม 4 ออนซ์ ให้ลูกกิน 2 ออนซ์ แล้วจับเรอก่อน แล้วค่อยกินอีก 2 ออนซ์ และจับเรออีกหลังกินอิ่ม

4. ถ้าลูกกินนมจากเต้า ให้จับลูกเรอก่อนที่จะเปลี่ยนข้างหรือเปลี่ยนเต้า

5. จับนอนหัวสูง หลังจากลูกกินนมเสร็จหรือว่ากินนมอิ่มแล้ว คุณแม่ควรจัดท่านอนให้ลูก ให้ลูกนอนหัวสูง หัวตั้งตรงประมาณ 30-45 องศา และตะแคงไปทางซ้าย (เพราะกระเพาะอาหารอยู่ทางด้านซ้าย) ประมาณ 30 นาที จะทำให้มีแรงโน้มถ่วงไปกดที่กระเพาะอาหาร นมไม่ไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหาร ซึ่งเป็นสาเหตุของการอ้วกหรือแหวะนมของทารก


แม้ว่าอาการแหวะนม สำรอกนม จะเป็นเรื่องปกติของเด็กทารกวัยแรกเกิด และสามารถหายได้เอง แต่ถ้าแหวะนมบ่อยเกินไป ก็อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดปัญหา “กรดไหลย้อน” ได้ ฉะนั้น การสังเกตอาการและลองหาวิธีป้องกัน ลูกก็จะแหวะนมน้อยลง หรือหากลองแล้วอาการแหวะนมของลูกยังไม่ดีขึ้น หรือพบว่าลูกมีอาการแหวะนมที่ไม่ปกติตามขั้นต้นที่ได้กล่าวมา แนะนำให้คุณแม่พาลูกไปพบแพทย์ เพื่อดูอาการและหาวิธีรักษาที่เหมาะสมต่อไป


บทความที่เกี่ยวข้อง