4 วิธีชงนมผงที่ถูกต้อง ไม่มีฟอง ช่วยป้องกันทารกท้องอืดได้

22 Jul 19 pm31 22:53

การชงนมผงเป็นขั้นตอนพื้นฐานในการเลี้ยงลูกที่ถือว่าเบสิคสำหรับคุณแม่มาก แม่ๆ ทุกคนน่าจะรู้วิธีการชงนมกันดีอยู่แล้ว แต่รู้ไหมคะว่าสิ่งที่คิดว่าง่ายและทำตามแบบที่ใครๆ เขาก็ทำกันมานี่แหละ อาจจะเป็นวิธีชงนมที่คุณแม่เข้าใจผิดมาโดยตลอดก็ได้ โดยเฉพาะชงนมให้ทารกอายุ 0-3 เดือน ที่ระบบย่อยยังไม่สมบูรณ์ การชงนมที่ไม่ถูกต้อง อาจทำให้ลูกเกิดอาการท้องอืด ไม่สบายท้อง บิดตัวไม่มาบ่อย และร้องไห้งอแงไม่หยุดเลยก็ได้ ฉะนั้น ก่อนที่จะชงนมให้ลูก คุณแม่มาเช็คกันดูก่อนดีกว่า ว่าได้ทำสิ่งเหล่านี้ไปบ้างหรือไม่



1. ใส่นมผงเข้าไปในขวดนมก่อนใส่น้ำ จริงๆ แล้ว ต้องใส่น้ำก่อนตักนมผงใส่ลงไป 

คุณแม่หลายท่านจะคุ้นเคยกับการตักนมผงใส่ขวดนมก่อนแล้วจึงค่อยเติมน้ำลงไป ซึ่งการทำอย่างนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะการที่คุณแม่ใส่นมผงลงไปก่อน จะทำให้ปริมาณน้ำน้อยกว่าความเป็นจริง ทำให้ลูกได้รับนมในปริมาณที่เข้มข้นเกินไป และอาจทำให้ลูกเกิดอาการท้องผูกได้    


2. ใช้น้ำร้อนชงนม จริงๆ แล้ว ต้องใช้น้ำต้มสุกที่ทิ้งไว้จนเย็นเท่ากับอุณหภูมิห้อง

การที่คุณแม่ใช้น้ำร้อนชงนมให้ลูกเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะน้ำร้อนจะทำให้นมจับตัวกันเป็นก้อน และทำลายสารอาหารบางอย่างที่ใส่มาในนม โดยน้ำต้มสุกที่ปลอดภัยกับลูกควรใส่ในภาชนะที่ทำจากแก้ว ไม่ใช่พลาสติกที่สามารถทำปฏิกิริยากับน้ำร้อน ซึ่งจะเกิดสาร BPA ที่เป็นอันตรายกับทารก หรือหากจะใช้น้ำร้อนควรผสมกับน้ำต้มสุก ในอัตรา 1 : 3 น้ำร้อน 1 ส่วน น้ำต้มสุก 3 ส่วน ก็จะได้น้ำสำหรับชงนมลูกที่อุ่นกำลังพอดี (ดูปริมาณน้ำ กับการตวงนมผงได้จากข้างกระป๋อง)

3. เขย่าขึ้นลงแรงๆ จนน้ำนมพุ่งปรี๊ดออกจากจุกนม เป็นวิธีที่ผิด เพราะจริงๆ แล้ว แค่หมุนวนไปรอบๆ ก็พอแล้ว

การเขย่าขึ้น-ลงแบบแรงๆ เป็นวิธีปกติที่แม่ๆ ชอบทำกัน แต่ทว่ามันกลับเป็นวิธีที่ทำให้เกิดฟองอากาศมากที่สุด ซึ่งการที่ลูกดูดฟองอากาศเข้าไปก็จะทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลูกท้องอืด ไม่สบายท้อง วิธีลดอาการท้องอืดของลูกก็คือ จับลูกเรอหลังกินนม และไม่เขย่าขวดนมขึ้นลงแรงๆ แต่ให้ใช้วิธีหมุนวนขวดนมไปรอบๆ แทน จะทำให้นมผงกับน้ำผสมกันได้โดยที่ไม่เกิดฟ้อง


4. ชงนมมากเกินไปจนลูกกินไม่หมด จริงๆ แล้ว ควรชงนมพอดีกับที่ลูกกิน

ชงนมพอดีกับที่ลูกกินก็พอ หรือหากลูกกินนมไม่หมด นมที่เหลือสามารถเก็บในอุณหภูมิปกติได้ แต่ไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมงหลังจากชง ซึ่งหลังจากนี้ ไม่ควรให้ลูกกินต่อ เพราะอาจทำให้ลูกท้องอืด หรือหนักสุดก็อาจทำให้ลูกท้องเสียได้ นอกจากนี้ การชงนมให้ลูกกินมากเกินไปอาจทำเกิดภาวะโอเวอร์ฟีดดิ้ง(overfeeding) หรือได้รับนมเกินความจำเป็นของร่างกาย ฉะนั้น ชงนมกับที่ลูกกินก็พอ โดยคุณแม่สามารถคำนวณปริมาณนมที่ลูกน้อยต้องการในแต่ละมื้อ ก็จะช่วยลดอาการแหวะนม อ้วกพุ่งในทารกที่มีอายุ 0-3 เดือนได้


มีหลายปัจจัยที่ทำให้แม่จำเป็นที่จะต้องชงนมผงให้ลูกกิน ไม่ว่าจะเป็นคุณแม่ผ่าคลอด น้ำนมมาช้า หรือคุณแม่ที่มีปัญหาด้านสุขภาพ แต่อย่าลืมนะคะว่า "นมแม่" คือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูกวัย 0-6 เดือน ดังนั้น ให้นมผงเป็นแค่นมเสริม และนมแม่เป็นมื้อหลัก จะดีต่อลูกมากที่สุด


บทความที่เกี่ยวข้อง