กรมสุขภาพจิตชี้ เด็ก bully กันตั้งแต่ "อนุบาล" แนะสร้างเกราะป้องกันก่อนลูกเข้าสังคม

25 Jul 19 pm31 13:45

เมื่อลูกต้องออกจากอ้อมอกของคุณพ่อคุณแม่และเดินเข้าไปสู่งสังคม ปัญหาที่ลูกอาจจะต้องพบเจอคือการกลั่นแกล้งกันของเด็กๆ ที่โรงเรียน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่คงไม่สามารถไปควบคุมสังคมและเด็กคนอื่นๆ ได้ การสร้างเกราะป้องกันตัวให้เด็กๆ จึงเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำตั้งแต่เขายังเล็กๆ เพราะเมื่อเขาเข้าสู่สังคมแล้ว เขาจะได้มีวิธีปกป้องดูแลตัวเองไม่ให้เป็นเหยื่อของความรุนแรงได้


จากรายงานของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ในปี 2561 ประเทศไทยมีสถิติความรุนแรงในโรงเรียนอยู่ในอันดับ 2 ของโลก ซึ่งความรุนแรงนี้พบได้ตั้งแต่เด็กวัยอนุบาลเลยทีเดียว!

Happy Mom.Life ขอรวบรวมเอา 5 วิธีสร้างเกราะปกป้องลูกจากการถูก bully หรือการกลั่นแกล้ง การใช้ความรุนแรงที่โรงเรียนมาฝากค่ะ…


1. เสริมทักษะทางสังคมให้ลูกรัก

จากสถิติพบว่า เด็กที่ถูกแกล้งมักมีทักษะทางสังคมไม่ค่อยดี ทำให้ดูแปลกแยกแตกต่างจากเพื่อนๆ และเป็นเป้าหมายของการถูกรังแกได้โดยง่าย รวมทั้งไม่มีบัดดี้คอยช่วยเหลือ ทำให้เด็กต้องแบกรับปัญหาและความกดดันไว้เพียงลำพัง คุณพ่อคุณแม่จึงต้องเร่งปลูกฝังและส่งเสริมทักษะทางสังคมที่ดีให้กับเด็กๆ เพื่อลดโอกาสการถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน และทำให้เขาเป็นที่รักของเพื่อนๆ ไปจนถึงทำให้เขามีความสุขกับการได้ไปโรงเรียนนั่นเองค่ะ


2. ส่งเสริมให้ลูกมั่นใจในคุณค่าของตัวเอง

ในทางจิตวิทยา การกลั่นแกล้งกันหมายถึงการได้แสดงอำนาจ บารมีของผู้แกล้ง เด็กที่ถูกแกล้งส่วนใหญ่จึงเป็นเด็กที่มีบุคลิกที่ดูอ่อนแอ ไม่มั่นใจในตัวเอง ทำให้ดู “แกล้งง่าย” เพราะเด็กในกลุ่มนี้จะดูอ่อนแอ ไม่ตอบโต้ จึงตกเป็นเหยื่อของเด็กที่ชอบกลั่นแกล้งได้นั่นเอง 

คุณพ่อคุณแม่จึงต้องเร่งปลูกฝังให้เด็กๆ มีความมั่นใจ และตระหนักถึงคุณค่าของตัวเอง โดยเริ่มตั้งแต่ในบ้าน เช่น ให้ความรักกับลูกทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่พูดจาดูถูกเหยียดหยามลูก อย่าปลูกฝังให้ลูกรู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อย ด้อยคุณค่า จนไม่กล้าลุกขึ้นมาปกป้องตัวเองค่ะ


เด็กที่ถูกแกล้งส่วนใหญ่จึงเป็นเด็กที่มีบุคลิกที่ดูอ่อนแอ


3. สอนให้ลูกเข้มแข็ง แต่ไม่ก้าวร้าว

คุณพ่อคุณแม่บางคนใช้วิธีการสอนลูกหลานให้ใช้ความรุนแรงตอบโต้คนที่มากลั่นแกล้ง ซึ่งจิตแพทย์เด็กกล่าวว่า วิธีนี้จะส่งผลไม่ดีในระยะยาว และอาจทำลูกมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงในอนาคต คุณพ่อคุณแม่จึงอาจใช้วิธีสอนให้เขารู้จักนิ่งสงบเมื่อถูกแกล้ง และไม่แสดงพฤติกรรมตอบสนอง เช่น ร้องไห้ โวยวาย เพื่อไม่ให้คนแกล้งรู้สึกประสบความสำเร็จในสิ่งที่ทำ และอาจแนะนำให้เขาให้กล้ามองตาเพื่อนที่มาแกล้งแล้วบอกไปตรงๆ ว่า “เราไม่ชอบที่เธอทำแบบนี้” เพื่อแสดงถึงความเข้มแข็งของตนเอง


4. เป็นที่พักพิงที่อบอุ่นให้ลูกเสมอ

ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม หากเด็กมีบ้านที่แข็งแกร่งและอบอุ่น เด็กจะสามารถต่อสู้กับปัญหาจากโลกภายนอกได้ คุณพ่อคุณแม่จึงต้องทำบ้านให้เป็นที่ปลอดภัยสำหรับลูก และคุณพ่อคุณแม่เป็นคนที่ลูกไว้ใจจะบอกเล่าและปรึกษาปัญหาได้ทุกเรื่อง หากเขามีปัญหากับเพื่อน จะได้ไม่กลัวที่จะเปิดใจกับคุณพ่อคุณแม่ให้ช่วยแก้ปัญหาได้อย่าทันท่วงทีค่ะ


5. จัดการอย่างมีสติ

เด็กที่ถูกกลั่นแกล้งจะมีความกลัวและความอับอายอยู่แล้ว หากคุณพ่อคุณแม่ระงับอารมณ์ไม่ไหว บุกไปโวยวายที่โรงเรียนจนเป็นเรื่องใหญ่ อาจทำให้ลูกยิ่งรู้สึกกลัวและอับอายมากขึ้นได้ ในขั้นแรก คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ไปจัดการกับเด็กที่แกล้งลูกด้วยตัวเอง แต่ให้สอนให้ลูกแก้ปัญหาด้วยตัวของเขาเองก่อน หากแก้ไม่ได้ ให้แจ้งคุณครูและปรึกษากับทางโรงเรียนเพื่อแก้ปัญหานี้ต่อไปค่ะ


ปัญหาเด็กแกล้งกันที่โรงเรียนยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของหลายๆ ประเทศ ซึ่งหากจะหาวิธีป้องกันคงเป็นไปได้ยาก ดังนั้นการปลูกฝังลูกให้ลูกรู้จักป้องกันตัวเอง และคอยดูแลเด็กๆ อย่างใกล้ชิด รวมทั้งสอนเด็กๆ ให้รู้จักให้เกียรติคนอื่นและยอมรับในความแตกต่าง น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดค่ะ