นักเล่นบำบัด (Play Therapist) แนะนำวิธีเล่นที่ช่วยเสริมพัฒนาการให้เด็ก 3 ขวบ

08 Jan 18 pm31 14:21

เมื่อลูกเข้าสู่วัยประมาณ 3 ขวบ ซึ่งเป็นวัยที่พัฒนาการในด้านต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก ประสาทสัมผัสต่างๆ การเล่นของเล่นก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการให้เด็กๆ ได้ดีมาก แต่คุณพ่อคุณแม่หลายท่านอาจจะยังสงสัยว่า เราจะชวนเด็กๆ เล่นอย่างไรดี ถึงจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการให้ลูกได้อย่างรอบด้าน วันนี้ Happy Mom.Life ได้รับเกียรติจาก คุณฉันทิดา สนิทนราทร เวชมงคลกร  นักจิตวิทยาและนักเล่นบำบัดที่ยินดีมาให้คำแนะนำกับเราค่ะ



การเล่นช่วยส่งเสริมพัฒนาการให้เด็กได้เป็นอย่างดี

pixabay



“สำหรับเด็กวัย 3 ขวบ ควรได้เล่นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กให้รอบด้าน ทั้งพัฒนาการด้านประสาทสัมผัส ความแข็งแรงของร่างกาย การเล่นเชิงสำรวจเพื่อพัฒนาสติปัญญา และการเล่นเพื่อพัฒนาทักษะทั้งด้านภาษา อารมณ์ และสังคม โดยมีรายละเอียดดังนี้ค่ะ



1. การเล่นเพื่อพัฒนาประสาทสัมผัส (Sensory Play) 

ตั้งแต่วัยทารก เด็กๆ ก็จะเริ่มเรียนรู้ด้วยการพัฒนาประสาทสัมผัส พอโตขึ้นมาถึง 3 ขวบ เรื่องการพัฒนาประสาทสัมผัสก็ยังเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเด็กๆ เพราะเด็กๆ ยังใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 7 ในการเรียนรู้ แล้วนิ้วมือ นิ้วเท้าของเขาก็คล่องแคล่วมากขึ้น เด็กๆ จึงควรที่จะได้เล่นเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อ ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อมัดใหญ่  หรือกล้ามเนื้อมัดเล็ก การได้ยิน การฟัง การได้กลิ่น การสัมผัสต่างๆ


การเล่นเพื่อพัฒนาประสาทสัมผัสก็เช่น เล่นทราย เล่นน้ำ เล่นปั้นดินน้ำมัน ระบายสี ดนตรี ร้องเพลง หรือฟังนิทาน เพื่อให้เด็กๆ ฝึกฟัง และเห็นภาพต่างๆ ในหนังสือด้วย หรือจะเป็นนิทานที่มีของเล่นเป็นหุ่นนิ้ว หุ่นมือ ให้เด็กๆ ได้ฝึกพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กไปพร้อมๆ กับการฟัง การอ่านนิทานด้วยก็ได้ค่ะ



2. การเล่นเพื่อพัฒนาความแข็งแรงของร่างกาย (Physical Play) 

สำหรับการเล่นเพื่อพัฒนาความแข็งแรงของร่างกาย คุณพ่อคุณแม่อาจให้เด็กๆ เล่นปีนป่าย วิ่งในสนามเด็กเล่น กระโดด ปั่นจักรยาน 3 ล้อ เต้น เล่นลูกบอล ปั้นดินน้ำมัน ขยำ ตัดกระดาษ วาดรูป เด็กๆ จะรู้สึกภาคภูมิใจว่าพวกเขาสามารถทรงตัว ควบคุมส่วนต่างๆ ของร่างกาย อีกทั้งยังสามารถปั้น ตัด จับ ขยำของเล่นของเขาให้เป็นไปตามแบบที่พวกเขาต้องการได้ และนอกจากนี้ยังเป็นการฝึกเรื่องการยืดหยุ่นความคิดให้เด็กๆ ได้ด้วยค่ะ



ชวนลูกรักออกไปวิ่งเล่นในสนามเด็กเล่น

elements.envato.com



3. การเล่นเชิงสำรวจ (Exploratory Play) 

การเล่นอีกแบบที่เหมาะกับเด็กๆ วัย 3 ขวบ คือการเล่นเชิงสำรวจ เพื่อฝึกใช้ความคิดในการแก้ไขปัญหา การเล่นแบบนี้จะช่วยส่งเสริมด้านสติปัญญา โดยเด็กในวัยนี้มักมีความอยากรู้อยากเห็น ชอบสำรวจ ชอบค้นหาอยู่แล้ว การเล่นแบบนี้ก็จะสนุกและเหมาะกับช่วงพัฒนาการของเขาเป็นอย่างดี


การเล่นที่เด็กๆ ได้ใช้ความคิดในการแก้ปัญหา เช่น ระหว่างการเล่นบล็อก เขาจะต้องคิดว่าจะจับวางอย่างไร เรียงอย่างไร ให้มันไม่ล้ม หรือออกมาตามรูปแบบที่เขาต้องการ เป็นต้น นอกจากนี้ เด็กๆ จะได้ฝึกหลายอย่างมาก ทั้งความคิด การตัดสินใจ ถ้ามันล้มจะทำอย่างไร ฝึกการคิด การแก้ปัญหาได้อย่างยอดเยี่ยม


ไม่เพียงแต่การเล่นบล็อกไม้เท่านั้น การเล่นเชิงสำรวจค้นหาสิ่งของต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่เด็กๆ ชื่นชอบมากและช่วยส่งเสริมการคิดของเด็กได้เป็นอย่างดี เช่นลองให้เด็กมองไปรอบๆ สำรวจว่ามีอะไรที่เป็นสีแดงบ้าง หรือเวลาไปเดินเล่นในสวน ก็อาจให้เด็กๆ ช่วยค้นหาก้อนหินสีดำๆ กลมๆ สัก 3 ก้อน หรือใบไม้สีน้ำตาลกรอบๆ สัก 2-3 ใบ (เริ่มจากจำนวนน้อย และหาได้ไม่ยากก่อน เพื่อให้เด็กมีกำลังใจในการค้นหา)  เด็กๆ ก็จะได้ใช้ความคิดในการสำรวจอย่างสนุกสนานเพลิดเพลินเชียวค่ะ



เล่นต่อบล็อก

elements.envato.com



4. การเล่นเพื่อพัฒนาทักษะสังคม (Social Play) 

เพื่อให้เด็กๆ ได้พัฒนาทักษะทางสังคม คุณพ่อคุณแม่อาจให้เด็กๆ ได้เริ่มเล่นแบบ “การเล่นคู่ขนาน” ซึ่งหมายถึงการที่เด็กๆ มีเพื่อนเด็กคนอื่นเล่นอยู่ใกล้ๆ กัน แต่ยังไม่ได้เล่นด้วยกัน เช่น เวลาไปสนามเด็กเล่น ก็มักจะมีเด็กคนอื่นมาเล่นอยู่ใกล้ๆ กัน เป็นต้น


คือเด็กวัยนี้ บางคนอาจยังไม่เล่นกับเด็กคนอื่น แต่เด็กก็จะรู้ว่า มีคนนี้เล่นอยู่ใกล้ๆ นะ ตรงนี้จะนำไปสู่พัฒนาการทางสังคมของเด็กๆ จากต่างคนต่างเล่น ก็จะค่อยๆ มาเล่นด้วยกัน ซึ่งอาจจะเป็นการเล่นที่ยังไม่มีกฏเกณฑ์อะไรมาก แต่เขาก็จะค่อยๆ พัฒนามาเล่นแบบที่อาศัยความร่วมมือกันได้ในที่สุด เช่น เล่นช่วยกันหาของ ช่วยกันสร้างบ้าน ช่วยกันหาใบไม้ ช่วยกันสร้างปราสาททรายด้วยกัน เป็นต้น



5. การเล่นเพื่อพัฒนาการใช้สัญลักษณ์หรือภาษา (Symbolic Play) 

การเล่นที่ช่วยพัฒนาอารมณ์และภาษาได้อย่างยอดเยี่ยม คือ การเล่นสมมติ สวมบทบาท ซึ่งสนุกมากและเด็กๆ ก็ชอบมากด้วยค่ะ เช่น เล่นสมมติไปผจญภัย เล่นซื้อของ สวมบทบาทเป็นตัวละครต่างๆ เป็นต้น ขณะเล่นเด็กก็จะพูดออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งอาจเอามาจากนิทาน คิดขึ้นมาเอง หรือเรื่องที่ได้ยินได้เห็นมาก็ได้ นอกจากนี้เด็กๆ ก็จะได้คิดด้วยว่า จะต้องทำอะไรต่อไปในขณะเล่นสมมติ เด็กจะเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้อย่างเป็นธรรมชาติ ได้เล่นและเรียนรู้อย่างสนุกและผ่อนคลาย ช่วยพัฒนาอารมณ์ทางบวก เสริมสร้างทักษะทางภาษา ทั้งการพูด การฟัง เกิดการจดจำและเรียนรู้ได้ดีเพราะได้เรียนรู้อย่างสนุกสนานผ่านการเล่นนั่นเองค่ะ


อันที่จริงแล้ว การเล่นเพื่อพัฒนาภาษาไม่ได้จำกัดอยู่ที่การเล่นสมมติเท่านั้น การอ่านนิทานหรือการเล่นประเภทอื่นๆ ที่เด็กเล่นแล้วรู้สึกสนุก ชอบมาก ก็ช่วยให้เด็กๆ ได้พัฒนาการพูด การฟังได้อย่างเป็นธรรมชาติเช่นกันค่ะ


สุดท้ายนี้ คุณพ่อคุณแม่บางท่านอาจจะห่วงว่า เราจะส่งเสริมลูกอย่างไรดี หรืออาจจะเล่นอะไรดี บางคนกังวลว่าเราเล่นกับลูกไม่เป็น อยากจะบอกว่าไม่ต้องกังวลเลยค่ะ เพราะพ่อแม่คือของเล่นที่ดีที่สุดสำหรับลูกอยู่แล้ว และช่วงวัยนี้ สิ่งที่เด็กต้องการมากที่สุดก็คือพ่อกับแม่ การที่พ่อแม่ให้เวลาเขา ทำกิจกรรมกับเขาด้วยความรักความอบอุ่นความเอาใจใส่ ไม่ว่าจะเป็นการเล่านิทาน ทำงานบ้าน ล้างจานด้วยกัน ใช้เวลาด้วยกัน ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้เด็กๆ ประทับใจ ทำให้เขาผูกพันกับคุณพ่อคุณแม่ คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องมีเทคนิคพิเศษอะไร ขอเพียงแค่ใช้เวลากับเขา ปล่อยให้เขาเป็นผู้นำในการเล่น แล้วคุณพ่อคุณแม่เป็นผู้ตาม เพียงเท่านี้ก็ได้ใจเด็กๆ ไปเต็มๆ แล้วค่ะ”