5 ข้อแนะนำ รับมือเด็กวัยช่างถามอย่างถูกวิธี สร้างพัฒนาการที่ดีให้ "เจ้าหนูทำไม"

09 Jan 18 am31 11:43

เมื่อเด็กๆ เข้าสูงวัยประมาณ 3-5 ขวบ เด็กๆ จะเริ่มมีพัฒนาการตามธรรมชาติเกี่ยวกับการอยากรู้ อยากลอง อยากสัมผัสสิ่งรอบตัว ในวัยนี้เด็กๆ จะเป็นเด็กช่างถาม จึงชอบตั้งคำถามกับคุณพ่อคุณแม่ จนได้รับฉายาว่าเป็น “เจ้าหนูจําไม” เพราะเด็กๆ จะถามคำถามจนแทบไม่รู้จักจบสิ้น

แม้ว่าคุณพ่อคุณแม่หลายท่านจะเข้าใจธรรมชาติและพัฒนาการเด็กดี แต่ก็อาจจะยังไม่แน่ใจว่า เราควรรับมือเด็กช่างถามอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหา ควรตอบคำถามแบบไหน หรือแสดงออกกับเด็กๆ อย่างไรจึงจะเหมาะสม Happy Mom.Life มีคำแนะนำมาฝากแล้วค่ะ


เจ้าหนูจำไม ถามเพราะอยากรู้และอยากถูกรัก


1. ตอบคำถามเด็กให้เข้าใจง่าย

วิธีการเลือกตอบคำถามให้เด็กช่างถามในวัยนี้นั้น คุณพ่อคุณแม่ควรตอบให้เข้าใจง่ายๆ เห็นเป็นรูปธรรม ไม่จำเป็นต้องมีความเป็นวิชาการมากเกินไป เพราะเด็กๆ อาจจะไม่เข้าใจ และอาจไม่ต้องจริงจังมากนัก เด็กๆ อาจเพียงแค่อยากชวนคุย หรือต้องการคำตอบที่ไม่ลึกซึ้งมากจนเกินไป


2. ไม่ตำหนิ หรือแสดงความรู้สึกรำคาญ

แม้ว่าเด็กๆ จะชอบตั้งคำถามไม่หยุดจนอาจจะทำให้คุณพ่อคุณแม่เหนื่อยที่จะตอบ แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือคุณพ่อคุณแม่ต้องไม่แสดงออกว่ารำคาญ มองว่าเป็นปัญหา หรือตำหนิให้เด็กๆ หยุดตั้งคำถาม เพราะการทำแบบนั้นจะทำให้เด็กๆ รู้สึกผิด และไม่กล้าถามต่อไป ส่งผลลบต่อพัฒนาการเด็ก และทำให้เขากลายเป็นเด็กที่ไม่มีความมั่นใจใจตัวเองค่ะ


3. ตอบคำถามเด็กแบบชวนให้คิดต่อ

การตอบคำถามของคุณพ่อคุณแม่อาจะไม่จำเป็นต้องเป็นการตอบตรงๆ เสมอไป คุณพ่อคุณแม่อาจใช้วิธีถามกลับ หรือตั้งคำถามต่อยอดจากสิ่งที่เด็กๆ ถาม เพื่อให้เด็กๆ ช่วยคิดต่อ เป็นการฝึกให้เด็กๆ รู้จักใช้ความคิด และบางครั้งเด็กๆ รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นคนตอบคำถามและได้คิดแก้ปัญหาด้วยค่ะ


วัยอยากรู้


4. ไม่ตอบคำถามเด็กแบบขอไปที

คุณพ่อคุณแม่บางท่านอาจตอบคำถามเด็กๆ แบบขอไปที ตอบอย่างไม่มีเหตุผลรองรับ ซึ่งจะส่งผลร้ายต่อเด็กๆ ในระยะยาวได้เหมือนกันนะคะ การตอบคำถามเด็กๆ จึงควรตอบอย่างตั้งใจคิด และมีเหตุผลรองรับ เพื่อให้เด็กๆ เข้าใจค่ะ


5. ตอบด้วยการพาเด็กๆ ไปเรียนรู้

บางคำถาม คุณพ่อคุณแม่อาจจะไม่ต้องตอบด้วยตัวเอง แต่สามารถพาเด็กๆ ไปเรียนรู้จากสถานการณ์จริงได้เลย เช่น หากเด็กๆ เกิดคำถามว่า ลูกอ๊อดโตขึ้นจะกลายเป็นอะไร คุณพ่อคุณแม่ก็อาจรับมือเด็กช่างถามด้วยการชวนเด็กๆ ไปเฝ้าสังเกตลูกอ๊อดในบ่อน้ำด้วยตัวเอง เป็นการเรียนรู้ที่มีประโยชน์ต่อเด็กๆ มากอีกวิธีหนึ่งค่ะ


6. หากไม่รู้คำตอบ ให้ขอเวลากับเด็กๆ ก่อน

อาจมีคำถามบางคำถามที่คุณพ่อคุณแม่ไม่แน่ใจว่าตอบลูกอย่างไร ก็ไม่จำเป็นต้องตอบเด็กๆ ในทันทีก็ได้ค่ะ โดยคุณพ่อคุณแม่อาจจะบอกกับเด็กๆ ว่า คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ทราบเหมือนกัน ขอเวลาไปหาคำตอบก่อน เด็กๆ ก็สามารถเข้าใจได้ค่ะ


ช่วงเวลาของการเป็น “เจ้าหนูจําไม” นั้น ถือเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาสำคัญของพัฒนาการเด็ก คุณพ่อคุณแม่จึงควรใส่ใจในการดูแลเด็กช่างถามในวัยนี้ให้มาก เพื่อให้เด็กๆ มีพัฒนาการที่ดี และมีสุขภาพจิตที่ดีต่อไปในอนาคตด้วยค่ะ