ดูแลครรภ์แฝด ครรภ์เสี่ยง ให้คุณแม่และทารกปลอดภัย ห่างไกลภาวะแทรกซ้อน

21 Mar 19 am31 11:24

การตั้งครรภ์นำมาซึ่งความยินดีปรีดา และยิ่งถ้าการตั้งครรภ์ของคุณแม่เป็นท้องแฝดด้วย นอกจากจะเป็นเรื่องน่ามหัศจรรย์แล้ว รู้หรือไม่ว่าการตั้งครรภ์แฝดมีปัญหากว่าการตั้งครรภ์เดี่ยวตามมามากมาย ซึ่งในเรื่องนี้ พล.อ.ต.ผศ.นพ.วิบูลย์ เรืองชัยนิคม สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ จะมาแนะนำข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการตั้งครรภ์แฝดเพื่อช่วยให้คุณแม่เข้าใจเรื่องนี้มากขึ้นค่ะ


ดูแลครรภ์แฝด ครรภ์เสี่ยง ให้คุณแม่และทารกปลอดภัย ห่างไกลภาวะแทรกซ้อน

elblogdeprocrear.blogspot.com


ท้องแฝดเกิดขึ้นได้อย่างไร


ท้องแฝดอาจเกิดได้จาก 2 สาเหตุ คือ

1. แฝดแท้ หมายถึงการตั้งครรภ์แฝดที่เกิดจากเชื้ออสุจิ 1 ตัวผสมกับไข่ 1 ฟองแล้วเกิดการแบ่งตัวหลังจากผสมแล้ว ซึ่งเด็กที่เกิดมาจะมีลักษณะเหมือนกันทุกอย่าง มีเพศเดียวกัน รูปร่างหน้าตา สีผม และกรุ๊ปเลือดเหมือนกัน จากสถิติพบแฝดชนิดนี้ได้ประมาณ 1 ใน 3 ของการตั้งครรภ์แฝดทั้งหมด การเกิดแฝดแท้จะมีโอกาสในการเกิดเท่ากันทั้งในการตั้งครรภ์แรกและครรภ์หลัง และไม่ว่าจะมีเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ หรืออายุเท่าใดก็ตาม

แฝดแท้นี้บางคู่อาจมีรกและถุงการตั้งครรภ์แยกจากกัน บางคู่ถุงการตั้งครรภ์จะแยกเป็นคนละถุง แต่ยังใช้รกร่วมกัน หรือบางคู่ก็อาจใช้รกร่วมกันและอยู่ในถุงการตั้งครรภ์เดียวกันเลยก็ได้ ถ้าทารกต้องใช้รกร่วมกันและอยู่ในถุงการตั้งครรภ์เดียวกัน โอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนก็มีมากขึ้น เช่น อาจเกิดสายสะดือพันกัน ทำให้ทารกเสียชีวิตทั้งคู่ หรืออาจมีเลือดไปเลี้ยงทารกทั้งคู่ได้ไม่เท่ากัน ทำให้ทารกคนหนึ่งตัวเล็ก อีกคนหนึ่งอาจบวมน้ำ หัวใจวาย และเสียชีวิตได้ เป็นต้น


แฝดแท้ที่เป็นเพศเดียวกัน รูปร่างหน้าตาเหมือนกัน

bigthink.com


2. แฝดเทียม หรือแฝดคนละใบ เกิดจากเชื้ออสุจิ 2 ตัวหรือมากกว่า เข้าไปผสมกับไข่ 2 ใบหรือมากกว่า จึงทำให้แฝดกลุ่มนี้อาจมีเพศ หน้าตา และกรุ๊ปเลือดเหมือนกันหรือไม่เหมือนกันก็ได้ ทารกในครรภ์จึงเป็นเสมือนพี่น้องที่มีการเจริญเติบโตอยู่ในโพรงมดลูกในเวลาเดียวกัน 


จากสถิติแล้วแฝดชนิดนี้จะพบได้ประมาณ 2 ใน 3 หรือราว 70% ของการตั้งครรภ์แฝดทั้งหมดและจะพบได้มากในครรภ์หลัง หรือในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุมากหรือคุณแม่ที่กินยากระตุ้นรังไข่ทำให้มีการตกไข่มากกว่า 1 ฟอง เมื่อมีการผสมโดยอสุจิมากกว่า 1 ตัวแล้วเจริญเติบโตเป็นลูกแฝด ก็จะมีรกแยกจากกัน แต่ในบางกรณีก็อาจอยู่ชิดกันจนแยกไม่ออก การเกิดแฝดเทียมยังขึ้นอยู่กับเชื้อชาติ กรรมพันธุ์และการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ด้วย


คุณหมออัลตร้าซาวนด์ตรวจดูว่าท้องแฝดหรืือไม่ 

ardms.org


จะทราบได้อย่างไรและทราบเมื่อไหร่

ว่าการตั้งครรภ์ครั้งนี้เป็นท้องแฝด 


ในคุณแม่ที่มีคนในครอบครัวเคยคลอดลูกแฝด มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเร็ว มีอาการแพ้ท้องมาก รู้สึกท้องใหญ่กว่าอายุครรภ์หรือรู้สึกว่าลูกดิ้นเร็วกว่าปกติ อาจจะเป็นท้องแฝดก็ได้ ให้รีบพบคุณหมอทันทีเพื่อให้การวินิจฉัยว่าเป็นการตั้งครรภ์แฝดหรือไม่ โดยคุณหมอจะใช้เครื่องอัลตร้าซาวนด์ตรวจดู ซึ่งจะให้ความแม่นยำสูงในกรณีแฝด 2 แต่ถ้าเป็นการตั้งครรภ์แฝดมากกว่านี้อาจเกิดข้อผิดพลาดได้บ้าง


ท้องแฝดถือเป็นภาวะผิดปกติจริงหรือไม่


โดยทั่วไปแล้วคุณพ่อและคุณแม่ที่รู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์แฝดส่วนใหญ่แล้วจะดีใจเพราะตั้งครรภ์ครั้งเดียวได้ลูกถึง 2 คน ยิ่งถ้าได้ผู้ชาย 1 คน ผู้หญิง 1 คน ก็จะยิ่งมีความสุขมาก แต่หารู้ไม่ว่าการตั้งครรภ์แฝดนั้นจะมีปัญหามากมายกว่าการตั้งครรภ์เดี่ยว โดยจะพบภาวะต่าง ๆ ดังต่อไปนี้เพิ่มขึ้น เช่น คุณแม่จะมีอาการแพ้ท้องมากกว่าปกติ รู้สึกแน่นอึดอัด เหนื่อยง่ายและปวดหลังมากขึ้น เนื่องจากมีขนาดท้องที่ใหญ่กว่าปกติ


คุณแม่ตั้งครรภ์ท้องแฝดจะมีอาการแพ้ท้องมากกว่าปกติ

wholeparent.com


อันตรายที่อาจเกิดกับคุณแม่ตั้งครรภ์แฝด

 

อาจเกิดอาการครรภ์เป็นพิษ เบาหวานขณะตั้งครรภ์หรือโรคความดันโลหิตสูงในระหว่างการตั้งครรภ์ได้มากขึ้น เกิดภาวะซีดได้ง่ายกว่าคุณแม่ที่มีครรภ์เดี่ยว อาจเกิดภาวะรกเกาะต่ำ/รกลอกตัวก่อนกำหนดเพิ่มขึ้น เสี่ยงต่อการแท้งบุตรเพิ่มขึ้นเนื่องจากในครรภ์แฝด มีโอกาสเกิดความพิการของทารกในครรภ์มากกว่าในครรภ์เดี่ยว การคลอดก่อนกำหนดก็จะมากกว่าในครรภ์เดี่ยว เนื่องจากในครรภ์แฝดจะพบภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เพิ่มขึ้นและมีขนาดของมดลูกโตมากกว่าอายุครรภ์จริงจึงเป็นตัวกระตุ้นให้มดลูกมีการบีบรัดตัวก่อนครบกำหนด 


นอกจากนี้ยังพบทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ ทารกมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติเพิ่มขึ้น พบอัตราการผ่าตัดคลอดสูงกว่าในครรภ์เดี่ยว เนื่องจากทารกจะมีโอกาสอยู่ในท่าก้นหรือท่าขวาง ซึ่งถ้าปล่อยให้คลอดทางช่องคลอด อาจทำให้เกิดอันตรายต่อทารกสูงขึ้นและในบางครั้งทารกอาจมีการแยกตัวกันแบบไม่สมบูรณ์หรือมีสายสะดือพันกันก็เป็นสาเหตุให้จำเป็นต้องผ่าตัดคลอดเช่นกัน  อาจเกิดการตกเลือดหลังคลอด อัตราการตายของทารกหลังคลอด และการติดเชื้อหลังคลอดสูงขึ้น 

 

ตรวจความผิดปกติในคุณแม่ตั้งครรภ์แฝด

endalis.com


ฝากคำแนะนำถึงคุณแม่ท้องแฝด

ในการดูแลตัวเองและลูกในครรภ์ 


คุณแม่ตั้งครรภ์แฝดอาจมีอันตรายเกิดขึ้นดังที่กล่าวมาข้างต้น แต่คุณแม่ก็ไม่ต้องกังวลมากเกินไปเพราะถ้าได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นครรภ์แฝดตั้งแต่อายุครรภ์น้อย ๆ และปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัดแล้วก็จะสามารถช่วยลดปัญหาดังกล่าวข้างต้นได้พอควร ดังนั้นเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์แล้วจึงควรรีบหาหมอโดยเร็วจะได้ช่วยผ่อนหนักเป็นเบา