7 ทริคเปลี่ยนเด็กขี้เกียจให้ขยัน แบบไม่ต้องบังคับกันให้เสียสุขภาพจิตลูก

10 Jan 18 pm31 16:19

ความขี้เกียจของเด็กๆ อาจเป็นปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่หนักอกหนักใจกันอยู่ไม่น้อย บางคนพบว่าลูกไม่ยอมทำอะไรเลย เอาแต่นอนหรือเล่นเกม พอดุว่าก็ไม่เชื่อฟัง ถ้าหากปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป ก็กังวลว่าลูกจะไม่ทันคนอื่น และพลาดโอกาสในการเรียนรู้ พัฒนาตัวเองในทางที่ดีได้ การฝึกลูกไม่ให้เป็นเด็กขี้เกียจจึงเป็นเรื่องสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ โดย Happy Mom.Life ได้รวบรวมเอา 7 ทริคฝึกลูกไม่ให้เป็นเด็กขี้เกียจมาฝากแล้วค่ะ



1. ให้เขาได้ทำสิ่งที่เขาอยากทำตั้งแต่เล็กๆ

เด็กๆ ในวัย 3-4 ขวบ เป็นวัยที่เริ่มอยากทำอะไรเลียนแบบผู้ใหญ่เด็กในวัยนี้จึงสนุก ตื่นเต้นกับการทำนั่นทำนี่ตามคุณพ่อคุณแม่ เช่น อยากทำงานบ้าน อยากทำกับข้าว ซักผ้า ฯลฯ จึงถือเป็นช่วงเวลาทองที่คุณพ่อคุณแม่จะฝึกความขยันให้กับลูก ในช่วงนี้คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรห้ามลูกทำสิ่งต่างๆ หรือไล่ลูกไปนั่งเฉยๆ แต่ให้มอบหมายหน้าที่เล็กๆ น้อยๆ ให้เขาได้ลองทำ เช่น ช่วยแม่ล้างผัก หรือเก็บของเป็นต้น นอกจากเด็กๆ จะรู้สึกมีแรงบันดาลใจ คุ้นเคยกับการทำงานแล้ว ยังช่วยฝึกทักษะ พัฒนาการให้เด็กๆ และสร้างความรู้สึกมีคุณค่าให้เด็กๆ ด้วย


2. มอบหมายหน้าที่ของเขาอย่างเป็นระบบ

เมื่อเด็กๆ โตขึ้น คุณพ่อคุณแม่อาจมอบหมายหน้าที่บางอย่างในบ้านให้เป็นหน้าที่ของเขา เช่น ให้เขามีหน้าที่จัดโต๊ะอาหาร ให้อาหารสัตว์เลี้ยง หรือรดน้ำต้นไม้เป็นต้น เมื่อเด็กๆ ทำตามหน้าที่ของตนเองบ่อยๆ เขาก็จะเกิดความคุ้นเคย และเข้าใจว่า เขาต้องทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว และต้องมีความรับผิดชอบในหน้าที่ของตนเอง


ระวังนิสัยขี้เกียจจะทำลายลูก

instagram.com/p/wp5_TnDYqP


3. ไม่ตำหนิ แต่ตักเตือน

ในเวลาที่เด็กๆ เพลิดเพลินกับสิ่งที่เขาชอบจนละเลยหน้าที่ของตน คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรดุเด็กๆ หรือตำหนิ เช่น บ่นว่าเด็กขี้เกียจ ไม่รู้จักช่วยเหลือพ่อแม่ แต่ให้เตือนเขาว่า เขาควรทำหน้าที่ของเขาแล้ว นอกจากนี้เด็กๆ อาจจะยังทำอะไรได้ไม่ถูกใจคุณพ่อคุณแม่นัก เพราะยังมีทักษะไม่เพียงพอ เช่น อาจจะยังกวาดบ้านไม่สะอาด รีดผ้าไม่เรียบ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรดุ หรือบ่นว่า แต่ให้ช่วยสอนวิธีที่ถูกต้องกับเด็กๆ อย่างใจเย็น หรืออาจชวนเด็กๆ ทำด้วยกันเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ ค่ะ


4. ยืดหยุ่นบ้างในบางโอกาส

คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรเข้มงวดกับเด็กๆ มากจนเกินไป เช่นในบางครั้งที่เด็กๆ กำลังเพลิดเพลินกับกิจกรรมบางอย่าง แล้วคุณพ่อคุณแม่เข้าไปสั่งให้เขาลุกขึ้นมาทำงาน อาจจะทำให้เด็กๆ รู้สึกหงุดหงิด และต่อต้านการทำหน้าที่ของเขาจนกลายเป็นปัญหาได้ คุณพ่อคุณแม่อาจจะยืดหยุ่นสักนิด เช่น อนุญาตให้เขาทำสิ่งที่เขาชอบให้เสร็จก่อน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม อย่าเข้าไปทำหน้าที่แทนเด็กๆ แม้ว่าจะทำให้คุณหงุดหงิดบ้างก็ตาม


5. ชื่นชมเมื่อลูกทำได้ดี

คำชมเป็นแรงผลักดันที่ดีสำหรับเด็กๆ เมื่อเขาทำอะไรได้ดีและได้รับคำชมจากคุณพ่อคุณแม่เด็กๆ จะรู้สึกอยากทำสิ่งนั้นต่อไป ในทางตรงกันข้าม ถ้าเขาทำแล้วถูกตำหนิ เขาก็จะหมดความมั่นใจ หรือไม่อยากทำสิ่งนั้นๆ อีก จนอาจกลายเป็นปัญหานิสัยขี้เกียจไปในที่สุด


อย่าลืมชื่นชม เมื่อเด็กๆ ขยันขันแข็ง


6. อย่าเปรียบเทียบลูกกับคนอื่น

ไม่มีใครอยากถูกเปรียบเทียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เปรียบเทียบว่าคนอื่นดีกว่า เก่งกว่า น่ารักกว่า การที่คุณพ่อคุณแม่เปรียบเทียบลูกกับคนอื่นจะทำให้เด็กๆ รู้สึกด้อย และต่อต้าน จนทำให้เขาไม่มีแรงหรือพลังใจที่จะลุกขึ้นมาทำสิ่งดีๆ ดังนั้น พยายามอย่าเปรียบเทียบลูกกับคนอื่นนะคะ


7. เช็คดูว่าลูกเหนื่อยเกินไปหรือเปล่า

เด็กในยุคนี้มีภารกิจต้องทำมากมาย ทั้งการเรียนและกิจกรรมต่างๆ บางทีคุณพ่อคุณแม่อาจมองข้ามจุดนี้ไป ลืมคิดว่าลูกอาจจะเหนื่อยและต้องการเวลาพักผ่อน ทำอะไรที่เขาชอบบ้าง ดังนั้นก่อนจะตัดสินว่าลูกเป็นเด็กขี้เกียจหรือไม่ คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องเช็คดูก่อนว่า ลูกเหนื่อยเกินไปหรือเปล่า และมีเวลาผ่อนคลายบ้างหรือไม่


การที่เด็กคนหนึ่งจะลุกขึ้นมาเป็นคนขยันทำอะไรสักอย่างได้ เด็กอาจจะต้องมีแรงบันดาลใจและตัวอย่างที่ดีจากคุณพ่อคุณแม่ด้วยนะคะ ดังนั้นถ้าหากอยากให้ลูกเป็นเด็กขยัน นอกจาก 7  ข้อข้างต้นที่เรานำมาฝากแล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องขยันให้ลูกเห็น เพื่อให้เด็กๆ มีต้นแบบที่ดี และทำตามด้วยเช่นกันค่ะ