แก้ปัญหาลูกขาดวินัยไม่ใช่แค่บ่น แต่ต้องช่วยลูกพัฒนา "สมองส่วนเหตุผล" อย่างถูกวิธี

11 Jan 18 pm31 13:57

ปัญหาของคุณพ่อคุณแม่หลายคนคือการที่ลูกงอแง ไม่มีวินัย บางทีก็โวยวาย เอาแต่ใจ ขี้โมโห ซึ่งทำให้คุณพ่อคุณแม่ต้องกลับมานั่งกุมขมับ เพราะไม่รู้จะจัดการอย่างไรดี อันที่จริงการที่เด็กๆ ไม่สามารถคิด ควบคุมตัวเองได้ดีเท่ากับผู้ใหญ่นั้น มีที่มาจากพัฒนาการของสมองตามธรรมชาติ หากคุณพ่อคุณแม่มีวิธีจัดการอย่างถูกต้อง ก็จะช่วยพัฒนาสมองของเด็กๆ ให้คิดเป็น และทำให้เด็กๆ เติบโตได้อย่างมีคุณภาพ Happy Mom.Life จึงอยากชวนคุณพ่อคุณแม่มาทำความเข้าใจธรรมชาติของสมอง และวิธีสร้างวินัยให้ลูกน้อยค่ะ


ปัญหาลูกงอแง ควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมไม่ค่อยได้ เป็นผลมาจากพัฒนาการธรรมชาติของสมองที่ยังไม่สมบูรณ์ หากคุณพ่อคุณแม่ทำความเข้าใจ ก็จะรู้วิธีสอนลูกได้ง่ายขึ้น


ทำความเข้าใจสมองเพื่อทำความเข้าใจลูก


ก่อนอื่น เราอยากชวนคุณพ่อคุณแม่มาทำความเข้าใจสมองของมนุษย์คร่าวๆ ก่อนนะคะ โดยปกติแล้ว สมองของมนุษย์จะมีสมองมีโครงสร้างแบ่งออกเป็น 3 ชั้น ได้แก่


1. สมองส่วนสัญชาตญาณ 

เป็นสมองที่ทำงานโดยอัตโนมัติ เพื่อความอยู่รอดของชีวิต ถูกพัฒนาสมบูรณ์ตั้งแต่แรกคลอด


2. สมองส่วนอารมณ์ ความรู้สึก 

เป็นตัวบอกว่าเราชอบหรือไม่ชอบอะไร ควบคุมการรับรู้ความรัก ความผูกพัน ความเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ความภาคภูมิใจในตัวเอง หากรู้สึกขาดก็จะแสดงออกมาเป็นการกระทำโดยแยกแยะไม่ได้ว่าเป็นพฤติกรรมที่ถูกต้องหรือไม่ สมองส่วนนี้จะเติบโตอย่างเต็มที่ตั้งแต่แรกคลอดเช่นกัน


3. สมองส่วนเหตุผล 

เป็นสมองส่วนที่ควบคุมพฤติกรรมของเรา โดยสมองส่วนนี้จะทำงานได้ดี เมื่อสมองส่วนอารมณ์และสัญชาตญาณถูกควบคุมอยู่ในระดับปกติ 

สมองส่วนเหตุผลจะพัฒนาได้เต็มที่เมื่ออายุ 20-25 ปี เด็กๆ ซึ่งสมองส่วนนี้ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์จึงไม่มีเหตุผล และทำตามอารมณ์ของตัวเองเป็นหลัก ดังนั้น หากอยากให้ลูกมีวินัย พ่อแม่ต้องช่วยพัฒนาสมองส่วนนี้ให้ลูก


สมองสามส่วนที่ส่งผลต่อพฤติกรรมมนุษย์


อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่มีส่วนสำคัญอย่างมากในการช่วยพัฒนาสมองส่วนเหตุผลให้กับเด็กๆ ได้โดยการดูแลลูกตั้งแต่แรกเกิดด้วยบันไดทั้ง 7 ขั้น (อ่านเรื่อง “บันได 7 ขั้น ช่วยพัฒนาเด็กให้มีทักษะสมองที่ดี”) และการปลูกฝังวินัยอย่างถูกวิธี ด้วยวิธีดังนี้ค่ะ



1. พัฒนาสมองส่วนเหตุผลด้วยความสัมพันธ์ที่ดี

พ่อแม่ไม่ควรทำอะไรก็ตามที่บั่นทอนความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับลูก เช่น การทำร้ายร่างกาย ตำหนิ แสดงความรู้สึกด้านลบ หรือเย็นชา แต่ให้แสดงความเข้าใจในตัวลูก เช่น เมื่อลูกร้องไห้ อย่าบังคับขู่เข็นหรือลงโทษเพื่อให้ลูกหยุดร้องไห้ แต่ให้แสดงความเข้าใจโดยบอกกับลูกว่า “หนูกำลังเสียใจ” และให้เวลาเด็กๆ สงบอารมณ์ โดยคุณนั่งอยู่เคียงข้างเขา เมื่อเด็กอารมณ์สงบแล้ว ค่อยสอนเขา เพื่อกระตุ้นให้เด็กฝึกพัฒนาสมองส่วนเหตุผล

TIP : เมื่อลูกงอแง อย่าพยายามสอน หรือตะโกนสั่งให้ลูกหยุดร้องไห้ในขณะที่เด็กยังมีอารมณ์รุนแรง เนื่องจากสมองส่วนเหตุผลจะทำงานได้ดี เมื่อสมองส่วนอารมณ์อยู่ในภาวะปกติเท่านั้นค่ะ


2. พัฒนาสมองส่วนเหตุผลโดยไม่ตีกรอบหรืองบังคับ

เด็กๆ ควรมีวินัยในตนเอง กำกับตนเองได้โดยที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องบังคับ ขู่เข็น หรือวางแผนให้ทุกอย่าง และไม่ต้องมี รางวัลล่อใจ ไม่สอนให้เขาทำดีเพื่อผลประโยชน์ หรือทำดีเพราะความกลัว 

TIP : คุณพ่อคุณแม่อาจมอบหมายหน้าที่ให้เด็กแบบกว้างๆ เช่นบอกกับลูกว่า หนูมีหน้าที่ 3 อย่างคือทำการบ้าน อาบน้ำ และเล่น โดยหนูสามารถเลือกทำอะไรก่อนหลังก็ได้ แต่ต้องเสร็จภายในหกโมง เด็กๆ จะได้ฝึกคิดวางแผนด้วยตัวเอง เป็นอีกหนึ่งวิธีในการพัฒนาสมองส่วนเหตุผลค่ะ


3. พัฒนาสมองส่วนเหตุผลโดยหลีกเลี่ยงการลงโทษ

เด็กๆ ควรได้เรียนรู้เรื่องความรับผิดชอบโดยไม่จำเป็นต้องมีการลงโทษ เพราะการลงโทษอาจจะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกไม่มั่นคงในความสัมพันธ์ได้ แต่คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้เด็กๆ รู้จักสิทธิและหน้าที่ของตัวเอง ให้เด็กๆ รู้ว่า หากเขาไม่ทำตามหน้าที่ เขาจะถูกตัดสิทธิบางอย่าง เช่น สอนเขาว่า เขาสามารถเล่นเกมที่เขาชอบได้ หากเขารับผิดชอบหน้าที่ของเขาได้ครบถ้วน แต่หากเขาทำไม่ได้ เขาจะถูกตัดสิทธิ์ในการเล่นเกม เป็นต้น


4. พัฒนาสมองส่วนเหตุผลโดยใช้การแนะนำแทนการสั่ง

การสั่งให้เด็กๆ ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ เป็นการขัดขวางการคิดของเด็กๆ และกระตุ้นอารมณ์ด้านลบ สัญชาตญาณด้านลบของเด็กๆ ได้ค่ะ คุณพ่อคุณแม่จึงควรเลี่ยงการสั่ง แต่ให้เลือกเป็นการชี้แนะ ให้เด็กๆ ตัดสินใจ และเรียนรู้ผลจากการตัดสินใจนั้นด้วยตัวเอง

TIP : คุณพ่อคุณแม่อาจเสนอทางเลือกให้เด็กๆ แต่ทางเลือกทั้งสองทางมีเป้าหมายคือสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการให้เขาทำ เช่น หากต้องการให้เด็กเลิกเล่นแล้วไปทำการบ้าน แทนที่จะสั่ง อาจเสนอทางเลือกว่า เขาจะเล่นต่ออีกห้านาที หรือสิบนาทีแล้วจึงค่อยไปทำการบ้านดี เด็กจะรู้สึกว่าตัวเองได้คิด ได้เลือกและตัดสินใจด้วยตัวเองมากกว่าถูกบังคับค่ะ


วินัยเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาในการสร้าง คุณพ่อคุณแม่จึงต้องใจเย็นๆ และค่อยๆ สร้างค่อยๆ ปลูกฝังให้เด็กมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง หากคุณพ่อคุณแม่ไปถูกทาง รับรองได้เลยว่า เด็กๆ จะเติบโตขึ้นเป็นคนมีวินัย น่ารัก และเป้ฯที่รักของเพื่อนๆ และคนอื่นๆ ในสังคมอย่างแน่นอนค่ะ

 

ข้อมูลอ้างอิง

การบรรยายเรื่อง “พัฒนาการทักษะสมอง EF ด้วยวินัยเชิงบวก” โดย ดร. ปิยวลี ธนเศรษฐกร และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปนัดดา ธนเศรษฐกร ณ ศูนย์ประชุมวายุภักดิ์ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2560