7 ทางแก้ "อารมณ์โกรธ" ของลูกขี้โมโห ให้เด็กเติบโตเป็นคนนิสัยดี มีพัฒนาการเชิงบวก

11 Jan 18 pm31 14:11

อารมณ์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนตั้งแต่แรกคลอด เพราะในสมองของคนเรามีส่วนที่ทำให้เกิดอารมณ์ ความรู้สึก ซึ่งพัฒนาสมบูรณ์ตั้งแต่วันแรกที่ลืมตาดูโลก เด็กเล็กๆ จึงสามารถแสดงอารมณ์ของตนออกมาได้ แต่ด้วยความที่สมองส่วนเหตุผลของเขายังพัฒนาไม่เต็มที่ เขาจึงไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ เด็กๆ จึงอาจต้องการให้คุณพ่อคุณแม่ช่วยสอนพวกเขาถึงการควบคุมและจัดการอารมณ์อย่างถูกต้อง Happy Mom.Life จึงขอแนะนำ วิธีการจัดการอารมณ์โกรธของลูกน้อยแบบไม่ทำลายพัฒนาการ ให้คุณพ่อคุณแม่นำไปเป็นแนวทางใช้กับเด็กๆ ค่ะ


สอนลูกควบคุมอารมณ์ ช่วยพัฒนาให้ลูกนิสัยดี


1. หยุดลูกก้าวร้าวเอาแต่ใจด้วยความอ่อนโยน

เด็กๆ ไม่สามารถควมคุมพฤติกรรมให้เท่าทันอารมณ์ของตัวเองได้ เมื่อเขาโมโห เขาจึงอาจอาละวาดและทำตัวไม่น่ารัก หากลูกน้อยกำลังอยู่ในอารมณ์รุนแรง และแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวเอาแต่ใจ เช่น ทำลายข้าวของ ตีน้อง อาละวาดร้องไห้ คุณพ่อคุณแม่ต้องคุมสติ ไม่ก้าวร้าวกลับใส่ลูกนะคะ แต่หยุดพฤติกรรมลูกด้วยความอ่อนโยน เช่นในเด็กเล็กๆ ให้เข้าไปกอดเขาจากด้านหลัง เพื่อให้เขาสงบสติอารมณ์และหยุดอาละวาดเสียก่อน


2. บอกให้เขารู้ว่าเขากำลังรู้สึกอย่างไร

บางครั้งเด็กๆ ก็มีอารมณ์โกรธ แต่ไม่เข้าใจตัวเอง และไม่รู้จะแสดงออกมาอย่างไรจึงเหมาะสม คุณพ่อคุณแม่อาจเป็นคนช่วยบอกเขา เช่นบอกกับลูกน้อยว่า “แม่รู้ว่าลูกกำลังโกรธน้องอยู่” หรือ “หนูทำแบบนี้เพราะโกรธอยู่ใช่ไหมคะ” ให้คุณพ่อคุณแม่พยายามพูดแบบนี้ไปจนกระทั่งวันหนึ่งที่ลูกสามารถบอกอารมณ์ตัวเองได้บ่อยครั้งว่า หนูกำลังโกรธนะ หรือ หนูกำลังเสียใจนะ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเขารู้จักอารมณ์ของตัวเองแล้ว และมีพัฒนาการขึ้นไปอีกขั้นแล้วค่ะ


3. ไม่สั่งให้เด็กหยุดอารมณ์

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรทำเลยคือการตวาด ดุ หรือออกคำสั่งให้เด็กหยุดร้องไห้ หยุดอาละวาด เพราะการกระทำแบบนี้เป็นการทำให้เด็กรู้สึกว่า คุณพ่อคุณแม่ไม่เข้าใจและไม่ยอมรับเขา ซึ่งจะส่งผลเสียต่อความรู้สึกและพัฒนาการทางสมองของเด็กๆ ได้ นอกจากนี้ วิธีเหล่านี้ไม่ได้ทำให้เด็กเข้าใจอารมณ์ของตนเอง และจัดการกับอารมณ์ของตนได้จริงๆ ค่ะ


ให้ความรักสอนลูก


4. ให้เวลาสงบสติอารมณ์

ในขณะที่อารมณ์กำลังพลุ่งพล่าน ย่อมเป็นเรื่องยากที่เด็กๆ จะรับฟังคำสอนของเรา หรือคิด วิเคราะห์ในสิ่งที่เขาทำ คุณพ่อคุณแม่จึงต้องให้เวลาเด็กๆ ได้สงบสติอารมณ์ก่อน โดยอาจให้เขานั่งนิ่งๆ โดยคุณพ่อคุณแม่นั่งอยู่เคียงข้างเขา จนเมื่ออารมณ์ของเขาสงบลงแล้ว ค่อยเริ่มพูดคุยกันค่ะ


5. พูดคุย ถามความรู้สึก

เมื่อลูกน้อยสงบลงแล้ว ให้เข้าไปพูดคุยกับลูก ถามเขาถึงเหตุผล ถามว่าเขารู้สึกอย่างไร รวมทั้งแนะนำวิธีจัดการกับอารมณ์ของเขาในครั้งหน้า เช่น แนะนำให้เขาทำสิ่งที่ชอบเมื่อเกิดความโกรธ เช่น ไปเล่นกีฬา เล่นกับสัตว์เลี้ยง เป็นต้น


6. ชื่นชมเมื่อเขาจัดการอารมณ์ได้ดี

ครั้งใดก็ตามที่เด็กๆ สามารถจัดการและควบคุมอารมณ์โกรธของตัวเองได้ดีขึ้น คุณพ่อคุณแม่อย่าปล่อยผ่านเหมือนทำเป็นไม่เห็นนะคะ ให้เข้าไปชื่นชมเขา และให้กำลังใจว่าเขาจัดการกับอารมณ์โกรธของตัวเองได้ดี วิธีนี้จะทำให้เด็กๆ ตั้งใจที่จะควบคุมอารมณ์ตัวเองให้ดีขึ้นอีกในครั้งหน้าค่ะ


7. เป็นตัวอย่างที่ดีของลูก

สิ่งที่สำคัญที่สุดในการสอนเด็กๆ ให้ควบคุมอารมณ์ตัวเอง คือการเป็นตัวอย่างที่ดีให้เด็กๆ เห็น เพราะหากคุณพ่อคุณแม่ยังทะเลาะกัน ยังเอาแต่ใจ ไม่สามารถควบคุมอารมณ์รุนแรงของตัวเองได้ เด็กๆ ก็จะเรียนรู้และทำตาม รวมทั้งไม่เชื่อในสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สอนค่ะ ข้อนี้จึงสำคัญมากเช่นกันค่ะ


ทักษะการควบคุมอารมณ์เป็นทักษะที่ต้องฝึกฝนและใช้เวลา แม้ว่าแรกๆ เด็กๆ จะทำได้ไม่ดี พฤติกรรมลูกอาจยังทำให้คุณกลุ้มใจอยู่ แต่หากคุณพ่อคุณแม่คอยดูแล ฝึกฝน และปลูกฝังวิธีการควบคุมอารมณ์ให้เด็กๆ อย่างถูกวิธีแล้ว เด็กๆ ก็จะค่อยๆ เรียนรู้ และพัฒนาไปได้เองค่ะ