ทำอย่างไรดี? เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์คลำพบก้อนในเต้านม

12 Jan 18 pm31 14:33

ในเต้านมของผู้หญิงนั้นมีความซับซ้อน และอาจมีถุงน้ำ หรือเนื้องอกเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ ผู้หญิงบางคนพบก้อนในเต้านมจากการคลำด้วยตัวเอง บางคนอาจคลำไม่พบ แต่มาพบหลังจากการตรวจคัดกรองด้วยเครื่องมือแพทย์ในภายหลัง ก้อนผิดปกติในเต้านมของผู้หญิงนั้นมีได้หลายชนิด เช่น ถุงน้ำ เนื้องอกที่ไม่อันตราย หรืออาจรวมไปถึงมะเร็งก็ได้ คุณหมอจึงแนะนำให้ผู้หญิงคอยตรวจคัดกรองอยู่เสมอ เพื่อที่หากพบว่ามีความน่าสงสัยว่าจะเป็นมะเร็ง จะได้ทำการรักษาอย่างทันท่วงที

แต่สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์นั้น อาจมีรายละเอียดในการดูแลตัวเองมากกว่าผู้หญิงปกติสักหน่อย Happy Mom.Life จึงขอรวบรวมข้อมูลน่ารู้ สำหรับคุณแม่ที่พบความผิดปกติในเต้านมในช่วงตั้งครรภ์มาฝากค่ะ


ก้อนผิดปกติในเต้านมของแม่ตั้งครรภ์ มักเกิดจากกระบวนการสร้างน้ำนม หรือเป็นเนื้อเต้านมที่เจริญขึ้นจากการตั้งครรภ์ บางครั้งก็อาจเป็นถุงน้ำหรือที่เรียกกันว่า “ซีสต์” ซึ่งจะขยายใหญ่ขึ้นตามฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม ก้อนผิดปกติเหล่านี้อาจเนื้องอกที่ไม่อันตราย หรืออาจเกิดจากมะเร็งเต้านมได้


หากคลำพบก้อนผิดปกติในเต้านมควรทำอย่างไร?

หากคุณแม่พบว่ามีก้อนผิดปกติเกิดขึ้นในเต้านม (ซึ่งอาจเกิดจากการคลำพบด้วยตัวเอง) ควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อตรวจดูให้แน่ชัดว่าก้อนนั้นคืออะไร โดยปกติแล้วในการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม คุณหมอจะตรวจด้วยการอัลตราซาวน์ควบคู่ไปกับกากรทำเมโมแกรม แต่คุณแม่กำลังตั้งครรภ์อยู่ ควรแจ้งคุณหมอก่อนทุกครั้ง เพราะการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยการเมมโมแกรมนั้น มีรังสีที่อันตรายถึงทารกในครรภ์ได้ค่ะ


ตรวจอัลตราซาวน์


การตรวจอัลตราซาวน์ต่างจากเมมโมแกรมอย่างไร?

การตรวจอัลตราซาวน์นั้นเป็นการตรวจเพื่อดูว่ามีก้อนหรือถุงน้ำอยู่ในเต้านมหรือไม่ ส่วนการตรวจเมมโมแกรมเป็นการตรวจเพื่อหาดูว่ามีหินปูนหรือไม่ โดยการตรวจอัลตราซาวน์ไม่ส่งผลอันตรายต่อเด็กในครรภ์เหมือนการตรวจแบบเมมโมแกรม


หากตรวจพบก้อนเนื้อผิดปกติต้องผ่าตัดหรือไม่?

การผ่าตัดก้อนเนื้อออกหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ โดยมีปัจจัยหลายอย่าง เช่น ก้อนเนื้อดูมีความเสี่ยงไหม มีขนาดใหญ่แค่ไหน หากแพทย์แนะนำว่า ควรผ่าก้อนเนื้อเพื่อนำไปพิสูจน์ว่าเป็นเซลล์มะเร็งหรือไม่ ก็อาจจะมีความเสี่ยงต่อการแท้งบุตรอยู่บ้าง ในกรณีที่ต้องวางยาสลบ และคุณแม่ตั้งครรภ์อยู่ในช่วง 3 เดือนแรก แต่หากเพียงแค่ฉีดยาชา โอกาสแท้งบุตรจะน้อยลง ส่วนคุณแม่ใกล้คลอด คุณหมออาจเลื่อนการผ่าจัดออกไป เพราะเต้านมของคุณแม่ในช่วงนี้จะทำให้การผ่าตัดค่อนข้างลำบากขึ้น


ดูแลตัวเองเพื่อป้องกันมะเร็งเต้านม


หากเป็นมะเร็งเต้านมจะรักษาได้หรือไม่?

เมื่อพบว่า ก้อนเนื้อนั้นคือมะเร็งจะทำการรักษาได้หรือไม่ ก็อาจต้องดูระยะของมะเร็งควบคู่ไปด้วย โดยส่วนมากแล้ว หากต้องทำคีโมหรือฉายแสง อาจส่วผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้ จึงต้องปรึกษาคุณหมอเป็นกรณีไป ส่วนคุณแม่ที่กำลังให้นมบุตร คุณหมออาจแนะนำให้หยุดการให้นมบุตร เพราะอาจทำให้เซลล์มะเร็งขยายตัวได้ค่ะ


อย่างไรก็ตาม โดยส่วนมากแล้วเปอร์เซ็นต์ของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่จะเป็นมะเร็งเต้านมนั้นมีจำนวนค่อนข้างน้อย และอาจเกิดจากการเป็นมาแล้วก่อนตั้งครรภ์แล้วเพิ่งมาตรวจพบภายหลัง จึงแนะนำให้ผู้หญิงทุกคนไปตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมสม่ำเสมอ เพื่อลดโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นค่ะ