คลายความสงสัย…เป็นคุณแม่ตั้งครรภ์ ก็ทำเรื่องเหล่านี้ได้

15 Jan 18 pm31 13:26

เรื่องสุขภาพของคุณแม่ตั้งครรภ์เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญมาเป็นอันดับหนึ่ง ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต เพราะเมื่อแม่ตั้งครรภ์มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี ย่อมส่งผลดีต่อลูกในท้องให้มีการเจริญเติบโตและมีพัฒนาการที่ดีตั้งแต่อยู่ในครรภ์ นอกจากการดูแลสุขภาพแล้ว คุณแม่ตั้งครรภ์ยังต้องคอยระมัดระวังในหลาย ๆ เรื่อง เพื่อไม่ให้เกิดความกระทบกระเทือนต่อลูกในครรภ์





นี่จึงเป็นเหตุผลที่เรามักจะได้ยินว่าทำโน่นนี่นั่นอยู่บ่อย ๆ  อันนั้นก็ไม่ดี อันนี้ก็ไม่ได้ ห้ามไปซะหมด แต่ความจริงแล้วไม่ใช่โดยสิ้นเชิง เพราะคนท้องไม่ใช่คนป่วย คนท้องยังสามารถทำอะไรในชีวิตประจำวันได้เหมือนคนทั่วไป Happy Mom.Life มีมาบอกค่ะว่าเรื่องเหล่านี้ คุณแม่ตั้งครรภ์ก็สามารถทำได้นะคะ ไปดูกันค่ะว่าจะมีอะไรบ้าง



แต่งเสริมเติมสวยด้วยเครื่องสำอางและครีมบำรุง

คุณแม่ตั้งครรภ์บางคนยอมที่จะปล่อยตัวโทรมเพราะกลัวว่าเครื่องสำอางหรือครีมที่ใช้อยู่มากมายหลายตัวนั้นจะมีสารเคมีและซึมซาบเข้าสู่ผิวส่งผ่านไปถึงทารกในครรภ์ได้ แต่ในความจริงแล้วท้องด้วยก็สวยได้ โดยเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมที่มาจากธรรมชาติ ปราศจากสารเคมี หรือผลิตภัณฑ์สำหรับผิวบอบบางแพ้ง่าย ใช้บำรุงผิวในระหว่างตั้งครรภ์ และแต่งหน้าเบา ๆ เท่านี้ก็สวยแล้วล่ะค่ะ 



คุณแม่ตั้งครรภ์ก็แต่งเสริมเติมสวยได้

 momjunction.com



ฟิตแอนด์เฟิร์มด้วยการออกกำลังกาย

เดี๋ยวนี้คุณแม่ตั้งครรภ์นิยมหันมาออกกำลังกายกันมากเลยนะคะ นั่นเป็นเพราะการออกกำลังกายระหว่างตั้งครรภ์จะทำให้หุ่นกลับมาฟิตเฟิร์มได้เร็วกว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ไม่ออกกำลังกาย ดูแบบอย่างลีเดีย ศรัณย์รัชต์ หรือชมพู่ อารยา ไว้เป็นแรงบันดาลใจก็ได้นะคะ จะได้มีแรงฮึดมาขยับร่างกาย exercise แทนการนอนแหมะอยู่บนเตียง จะเลือกเดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ หรือโยคะ ก็สามารถทำได้แบบค่อยเป็นค่อยไป อย่าหักโหม และสามารถขอคำแนะนำจากคุณหมอที่ดูแลครรภ์อยู่ได้ค่ะ



ชวนคุณแม่ตั้งครรภ์มาออกกำลังกายเบา

 aptaclub.co.uk



เซ็กส์กับหวานใจกระชับรักให้แนบแน่น

คุณแม่ตั้งครรภ์หลายท่านมีความกังวลเกี่ยวกับการมีเซ็กส์ระหว่างตั้งครรภ์ คนท้องมีเซ็กส์ได้ไหม? เพราะความไม่แน่ใจ จนไม่กล้าจะกุ๊กกิ๊ก หรือสวีทหวานกับคุณสามีเหมือนอย่างแต่ก่อน แต่ในความจริงแล้วถึงจะตั้งครรภ์ก็ยังสามารถมีเซ็กส์ได้ตามปกตินะคะ เพราะในทางการแพทย์ไม่ได้มีข้อห้ามไว้ว่าห้ามมีเซ็กส์ระหว่างตั้งครรภ์ แต่อาจจะต้องระวังกันสักหน่อย ไม่ใช้ท่าที่โลดโผนหรือพลิกแพลงมากจนเกินไปนัก เพราะอาจจะกระทบกระแทกกันรุนแรง เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ ถ้าอย่างนั้นช่วงนี้ก็เป็นช่วงเวลาที่คนท้องมีเซ็กส์ได้ แต่ต้องกระชับกันเบา ๆ นะคะ



เซ็กส์ระหว่างตั้งครรภ์ กระชับกันเบา ๆ กับคุณสามี

i.pinimg.com



ดื่มกาแฟได้ในปริมาณที่พอดี

หากจะต้องเลิกกาแฟอย่างเด็ดขาด ก็ดูเรื่องยากสักหน่อยสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ติดกาแฟและต้องดื่มกาแฟเป็นประจำทุกวัน อาจไม่ต้องถึงขั้นนั้น เพราะมีการพิสูจน์จากการวิจัยทางการแพทย์หลายการวิจัยแล้วว่า คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ดื่มกาแฟเป็นประจำ ถ้าดื่มในปริมาณที่ไม่มากเกินไป ไม่ได้มีผลทำให้ทารกในครรภ์พิการ คลอดก่อนกำหนด หรือคลอดลูกออกมาตัวเล็กแต่อย่างใด โดยสมาคมโภชนาการแห่งสหรัฐอเมริกามีคำแนะนำเกี่ยวกับการดื่มกาแฟว่า คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถดื่มกาแฟได้ แต่ควรจะดื่มในปริมาณที่น้อยกว่า 300 มิลลิกรัมต่อวัน หรือประมาณ 3 ถ้วย (ขนาด 5 ออนซ์) ต่อวัน ซึ่งก็สามารถสรุปได้ว่า การดื่มกาแฟขณะตั้งครรภ์ไม่มีอันตราย ดื่มควรดื่มในปริมาณที่พอดี อย่าลืมนะคะว่ากาแฟนอกจากจะมีคาเฟอีนแล้ว ยังมีน้ำตาลอาจะทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์น้ำหนักเกินได้



คุณแม่ตั้งครรภ์ดื่มกาแฟได้

formaternity.com



ขับรถได้แต่ต้องเพิ่มความระมัดระวัง  

คุณแม่ตั้งครรภ์สายสตรองที่ยังทำงานนอกบ้านเป็นเวิร์คกิ้งวูแมนและยังต้องขับรถไปทำงานเองทุกวัน ก็ยังสามารถทำได้เหมือนเดิมนะคะ เพราะไม่ได้มีข้อห้ามกำหนดไว้ เพียงแต่ต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกที่คุณแม่ตั้งครรภ์จะมีอาหารแพ้ท้อง คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย และง่วงนอนได้ง่าย อาการเหล่านี้อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการขับรถได้ รวมถึงไตรมาสสุดท้ายที่ขนาดท้องของคุณแม่ขยายจนค้ำพวงมาลัย ทำให้ขับรถยาก อึดอัด หากเบรกกะทันหันท้องอาจกระแทกพวงมาลัย เป็นอันตรายได้ ดังนั้นเมื่อขับรถ ต้องขับอย่างระมัดระวัง เพื่อความปลอดภัยต่อคุณแม่และลูกน้อย หรือไม่ก็ย้ายมานั่งสวย ๆ ที่เบาะหลังและคาดเข็มขัดนิรภัย ปล่อยให้คุณสามีเป็นสารถีขับปรับ-ส่งในช่วงนี้แทนนะคะ



คนท้องควรเพิ่มความระมัดระวังในการขับรถ

npr.org



เห็นไหมล่ะคะว่านอกจากการดูแลสุขภาพให้ดีทั้งสุขภาพกายและสุขภาพแล้ว คุณแม่ตั้งครรภ์ก็ยังสามารถทำสิ่งเหล่านี้ตามปกติ เพียงแต่ต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น เพื่อความปลอดภัยทั้งต่อคุณแม่และทารกในครรภ์จนถึงวันที่พร้อมลืมตาออกมาดูโลก