พัฒนาการทารก ช่วงอายุครรภ์ 5 เดือน

18 Jan 18 pm31 12:18

ช่วงเดือนที่ 5 ของการตั้งครรภ์ เป็นช่วงที่คุณแม่กับลูกน้อยเริ่มมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันได้ โดยทารกในครรภ์จะได้ยินเสียงของแม่และรับรู้สัมผัสของแม่ได้ด้วยนะคะ คุณพ่อคุณแม่จึงพบความรู้สึกอัศจรรย์ใจอย่างมากมายในการตั้งครรภ์เดือนนี้ค่ะ



พัฒนาการทารก ช่วงอายุครรภ์ 5 เดือน



อายุครรภ์ 18 สัปดาห์

หูของทารกในครรภ์พัฒนาจนสมบูรณ์ทารกสามารถได้ยินเสียงหัวใจของแม่ และตกใจเมื่อมีเสียงดังรบกวนได้ ลูกอาจเตะหรือกระทุ้งจนทำให้คุณแม่รู้สึกได้ว่าลูกดิ้น ลำไส้ส่วนล่างสะสม “ขี้เทา” (เศษอาหารที่ย่อยไม่ได้จากน้ำคร่ำที่กลืนเข้าไป) หากทารกในครรภ์เป็นเพศชาย จะมีการสร้างต่อมลูกหมากในช่วงนี้



อายุครรภ์ 19 สัปดาห์

ผิวหนังของทารกจะหนาขึ้น และจะมีสารที่ลักษณะคล้ายขี้ผึ้งเคลือบอยู่ เป็นสารที่ผลิตจากต่อมไขมันเรียกว่า “ไขมันเคลือบผิว” ช่วยปกป้องทารก สมองเจริญเติบโตต่อไป เซลล์ประสาทสั่งการ หรือ Motor Neuronsเจริญอยู่ในจุดที่เหมาะสม ทำให้ทารกสามารถบังคับการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อได้บ้าง แต่ยังเป็นไปอย่างสะเปะสะปะ เพราะต้องได้รับการพัฒนาอีกเมื่อหลังคลอด



อายุครรภ์ 20 สัปดาห์

มีการผลิตไขหุ้มทารกมากขึ้น ผิวหนังหนาขึ้น มีการพัฒนาด้านการกลืน และขับถ่าย ช่วงนี้เป็นเวลาสำคัญในการพัฒนาประสาทการรับรู้ต่างๆ โดยเซลล์ประสาทในสมองพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ถือเป็นช่วงเวลาครึ่งทางของการตั้งครรภ์ที่สำคัญมากค่ะ

 


อายุครรภ์ 21 สัปดาห์

คุณแม่อาจสัมผัสได้ว่าลูกดิ้นมากกว่าเดิม ในช่วงนี้ทารกในครรภ์จะยังมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น พัฒนาการด้านระบบทางเดินอาหารพัฒนาจนสามารถดูดซึมน้ำและน้ำตาลจากน้ำคร่ำ แต่สารอาหารส่วนใหญ่ยังได้จากรกและสายสะดืออยู่ค่ะ



อายุครรภ์ 22 สัปดาห์ 

ในช่วงนี้คุณพ่อคุณแม่จะเห็นรูปร่างหน้าตาของลูกน้อยชัดเจนขึ้น ผิวหนังมีความโปร่งใสน้อยลง ขนอ่อนๆ เริ่มขึ้นทั่วร่างกาย คุณพ่อคุณแม่จะสามารถสังเกตการนอนและตื่นของลูกได้ สามารถปลุกลูกให้ตื่นได้ ระบบสืบพันธุ์ของลูกยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง



ในเดือนที่ 5 นี้ ทารกในครรภ์มีพัฒนาการเด่นที่น่าสนใจหลากด้าน คุณพ่อคุณแม่สามารถดูสรุปพัฒนาการเด่นของทารกตั้งแต่เดือนที่ 1 ถึงเดือนที่ 5 ได้จากตารางนี้เลยค่ะ



เดือนพัฒนาการเด่น
เดือนที่ 1
  • เกิดการปฏิสนธิระหว่างอสุจิกับไข่
  • ไข่เดินทางไปฝังตัวที่ผนังมดลูก
  • เกิดการเริ่มต้นแบ่งเซลล์ของตัวอ่อนในครรภ์
เดือนที่ 2
  • ขนาดตัวยาวประมาณ 2 – 3 เซนติเมตร
  • สามารถตรวจเพื่อยืนยันการตั้งครรภ์ได้อย่างแม่นยำ- หัวใจของทารกเริ่มเต้น
  • อวัยวะต่างๆ เริ่มเจริญเติบโต
เดือนที่ 3
  • ลำตัวยาวยาวประมาณ 10 – 12 เซนติเมตร
  • อวัยวะต่างๆ เริ่มทำงาน
  • ทารกเคลื่อนไหวได้
เดือนที่ 4
  • ลำตัวยาวประมาณ 16 – 18 เซนติเมตร
  • สามารถฟังเสียงหัวใจเต้นจากเครื่องฟังหน้าท้อง- ระบุเพศได้ชัดเจนขึ้น
  • เริ่มเห็นกระดูกของลูกจากการเอ็กซเรย์
เดือนที่ 5
  • ลำตัวทารกยาวประมาณ 20 – 25 เซนติเมตร
  • คุณแม่เริ่มรับรู้ว่าลูกกำลังดิ้น
  • ลูกได้ยินเสียงของแม่ และรับรู้สัมผัสของแม่
  • มีการผลิตไขเคลือบผิวหนังเรียกว่า “เวอร์นิกซ์”



ในเดือนที่ 5 นี้ มีเรื่องตื่นเต้นสำหรับคุณพ่อคุณแม่มากมาย ที่เห็นได้ชัดคือหน้าท้องของคุณแม่ใหญ่ขึ้น ลูกดิ้น และสัมผัสพูดคุยกับลูกน้อยได้ ในเดือนถัดไปจะมีความประทับใจแบบไหนรอคุณพ่อคุณแม่อยู่ ตามไปชมกันเลยค่ะ


พัฒนาการทารก ช่วงอายุครรภ์ 6 เดือน