ดูแลฟันลูกอย่างไร? ให้โตไปไม่ถูกเพื่อนเรียกว่า "เหยิน" และต้องเสียเงินกับค่าจัดฟัน

29 Sep 18 am30 09:09

แม้ว่าปัจจุบันจะมีนวัตกรรมการจัดฟันที่สามารถช่วยให้คนที่ฟันเรียงตัวไม่สวย มีฟันสวยและยิ้มได้อย่างมั่นใจ แต่ถ้ามีฟันสวยมาตั้งแต่ต้น ก็ไม่จำเป็นต้องเสียเงินไปจัดฟันให้ยุ่งยาก เพราะฉะนั้นแล้วถ้าอยากให้ลูกฟันสวยแล้วล่ะก็ ต้องเริ่มจากคุณแม่เองที่จะต้องเป็นคนดูแลและปลูกฝังลูกให้เห็นความสำคัญของสุขภาพปากและฟันตั้งแต่ยังเล็ก เพื่อไม่ให้ลูกโตขึ้นมามีชื่อใหม่ที่เพื่อน ๆ พากันเรียกว่า "เหยิน" อีกหนึ่งปัญหาสุขภาพฟันลูกรักที่คุณแม่ไม่ควรละเลย  


ดูแลฟันป้องกันฟันเหยิน

standouthealth.com


เพราะนอกจากอาจจะถูกเพื่อนที่โรงเรียนล้อแล้ว ซ้ำร้ายไปกว่านั้นยังส่งผลให้เกิดปัญหาช่องปาก เพราะทำความสะอาดได้ยาก ก่อโรคปริทันต์ นอกจากนี้การบดเคี้ยวที่ไม่สมดุล ยังจะส่งผลต่อกระดูกขากรรไกรด้วย เพื่อไม่ให้ปัญหาฟันเหยินเกิดขึ้นกับลูกรัก Happy Mom.Life มีวิธีการดูแลฟันที่ถูกต้องมาฝาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญกันตั้งแต่ขวบปีแรก 


1. ให้ดูดนมจากเต้า

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แบบให้ลูกดูดจากเต้านม มีส่วนช่วยให้คุณแม่ประหยัดเงินในการดูแลสุขภาพช่องปาก และค่าใช้จ่ายด้านทันตกรรมเมื่อลูกโตขึ้นได้ โดยการดูดนมแม่ของทารกทำให้กล้ามเนื้อช่องปากมีความแข็งแรง เพราะการดูดนมจากเต้านมแม่ โดยธรรมชาติทารกจะใช้ปากอมหัวนมจนถึงส่วนของลานนม และดูดแบบบีบรูด ใช้ลิ้นบีบนวดส่วนที่เป็นลานนม ซึ่งมีท่อนมเป็นจำนวนมาก จึงทำให้กล้ามเนื้อในช่องปากทุกส่วนเกิดการเคลื่อนไหวสม่ำเสมอ นอกจากนี้แล้ว เต้านมคุณแม่ยังมีความอ่อนนุ่มตามธรรมชาติ จึงไม่มีผลต่อการกด ดันเหงือก หรือเพดานปากของลูก


ดูดนมแม่จากเต้าช่วยดูแลฟันลูก

parents.com


2. หลีกเลี่ยงการดูดนมจากจุกขวดนม

การดูดนมจากจุกขวดนม ทารกจะใช้แรงดูดในลักษณะของการออกแรงดูด โดยใช้เหงือกกัดจุกนมและใช้ลิ้นกดช่องจุกนมไว้ พร้อมกับการบีบตัวของกล้ามเนื้อบริเวณแก้ม เพื่อให้เกิดภาวะสุญญากาศในช่องปาก ให้น้ำนมไหลออกจากขวดนมได้ ภาวะเช่นนี้ทำให้เกิดแรงบีบที่ขากรรไกรบน มีผลทำให้โค้งเพดานปากด้านบนมีการขยายตัวผิดปกติ และนำไปสู่การเกิดการซ้อนทับ หรือไม่สบกันของฟันชุดแรก รวมทั้งเพิ่มโอกาสในการเกิดการสบฟันที่ผิดปกติฟันบนบานออก ฟันล่างหุบเข้าได้อีกด้วย

การป้องกันคือหลังจากให้ลูกกินนมแม่จากเต้าอย่างน้อย 6 เดือน หลังจากนั้นสามารถให้ลูกกินนมจากแก้วแทน แต่ส่วนใหญ่คุณแม่จะเลือกใช้ขวดนมมากกว่าเพราะความสะดวก โดยคุณแม่ควร เลือกขวดนมรุ่นที่ออกแบบให้มีส่วนของจุกนมเลียนแบบเต้านมแม่ และให้เลิกดูดขวดเมื่ออายุ 1 ปี และไม่ควรให้เกิน 1 ขวบครึ่ง


เลี่ยงการดูดนมจากขวดนม

babycouture.in


3. เลิกดูดนิ้ว

การดูดนิ้วมือในเด็กอายุ 1 ปี เป็นพฤติกรรมที่ปกติ และสามารถเลิกได้เองในช่วง 2-4 ปี ซึ่งถ้าเด็กอายุเกิน 4 ปีแล้วยังดูดนิ้วอยู่ อาจทำให้เกิดความผิดปกติของฟันหน้าที่ยื่น และมีการสบฟันผิดปกติได้ คุณแม่หรือผู้ปกครองมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ลูกปรับพฤติกรรม เพื่อลดและเลิกการดูดนิ้ว ซึ่งต้องค่อย ๆ ปรับ อย่าตำหนิหรือตี ควรหากิจกรรมอื่น ๆ มาให้ลูกทำเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ หาของเล่น เช่น ลูกบอล เลโก้ มาให้ลูกเล่นเพื่อฝึกทักษะการใช้มือแทนการดูดนิ้ว


ดูดนิ้วอาจทำให้ฟันหน้ายื่นเหยินได้

dentaluxpa.com


นอกจากการดูแลที่คุณแม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง รวมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูดนิ้วของลูกดังที่กล่าวมาแล้ว ควรพาลูกไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพเหงือกและฟันเป็นประจำ หากมีปัญหาจะได้แก้ไขได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ นะคะ