ทำความรู้จักไวรัส RSV วายร้ายทำอันตรายลูกรักที่คุณแม่ต้องเฝ้าระวัง !

29 Jan 18 pm31 14:34

อย่างที่รู้กันดีว่าสภาพอากาศของบ้านเรานั้นเอาแน่เอานอนไม่ได้ เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว เดี๋ยวฝน ขนาดผู้ใหญ่ยังป่วย นับประสาอะไรกับเด็กเล็ก ๆ ยิ่งถ้าเป็นลูกของเราเองด้วยแล้ว คนเป็นแม่ก็อดสงสารไม่ได้

ในบรรดาเชื้อไวรัสที่แพร่ระบาดอยู่มากมายและเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดความเจ็บป่วยขึ้นนั้น มีเชื้อไวรัสตัวหนึ่งที่เรียกว่า "ไวรัส RSV" หรือชื่อเต็ม ๆ เรียกว่า Respiratory Syncytial Virus ต้นเหตุของโรคระบบทางเดินหายใจ ที่เป็นอันตรายต่อทารกและเด็กเล็ก ในรายที่อาการรุนแรงมากอาจถึงขั้นปอดอักเสบติดเชื้อได้ โดยเชื้อดังกล่าวสามารถพบได้ตลอดทั้งปี แต่จะพบบ่อยในช่วงฤดูฝน หรือปลายฝนต้นหนาว


ไวรัส RSV ทำให้ลูกป่วยได้


ถ้าไม่อยากจะต้องพาลูกรักไปพบคุณหมอเพราะป่วยด้วยเชื้อ RSV ไวรัสร้าย Happy Mom.Life อยากชวนคุณแม่มาทำความเข้าใจเเกี่ยวกับเจ้าไวรัสตัวนี้กันก่อน เพราะคุณแม่อาจเกิดความสับสนได้ เนื่องจากอาการเบื้องต้นที่แสดงนั้นคล้ายคลึงกับไข้หวัดธรรมดา แต่อาการนั้นมีความรุนแรงกว่า หากคุณแม่มีความเข้าใจจะได้เฝ้าระวังและป้องกันได้ลูกน้อยให้ห่างไกลเชื้อ RSV ได้อย่างถูกวิธี

 

• รู้จัก RSV ไวรัสตัวร้าย

RSV หรือ Respiratory Syncytial Virus เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ พบได้ในช่วงอายุ โดยเฉพาะทารกและเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ เด็กคลอดก่อนกำหนด เด็กที่มีปัญหาโรคหัวใจ โรคปอด โรคหอบหืด หรือผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำมาก อาจก่อให้เกิดอาการรุนแรง และเป็นไวรัสที่สามารถทำให้เกิดอาการปอดอักเสบได้


• RSV ติดต่อได้คล้ายไข้หวัด

เชื้อ RSV มีลักษณะการติดต่อคล้ายไข้หวัด โดยสามารถติดต่อกันได้จากการไอ จาม น้ำมูก น้ำลาย และเสมหะ รวมถึงสิ่งของที่ผู้ที่มีเชื้อไวรัสไปสัมผัส ระยะฟักตัวของโรคจะอยู่ที่ประมาณ 5 วัน  


ลูกติดเชื้อ RSV จะมีอาการคล้ายไข้หวัด


• เช็คอาการให้ชัด ไข้หวัดหรือ RSV กันนะ

เด็กที่ติดเชื้อไวรัส RSV จะมีอาการคล้ายไข้หวัด ซึ่งอาการที่พบ คือ มีไข้ ไอ คัดจมูก น้ำมูกไหล ซึ่งจะหายได้ใน 5-7 วัน แต่ถ้าติดเชื้อไวรัส RSV จะมีความรุนแรงกว่า ซึ่งคุณแม่ควรหมั่นสังเกตอาการเหล่านี้ที่บ่งชี้ว่านี่ไม่ใช่ไช่หวัดธรรมดา แต่เป็น RSV

   


• RSV รักษาเร็ว รักษาหาย 

ปัจจุบันยังไม่มียารักษา RSV โดยเฉพาะ การรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาแก้ไอละลายเสมหะ ยาขยายหลอดลม ยาลดไข้ หรือพ่นยา ในเด็กรายที่มีอาการเหนื่อย หายใจไม่ค่อยดี และเริ่มมีออกซิเจนในเลือดต่ำลง การรักษาจะเป็นในรูปแบบประคับประคอง เช่น ให้สารน้ำทางหลอดเลือด ให้ยาพ่นขยายหลอดลม เคาะปอด ดูดเสมหะ รวมถึงให้ออกซิเจน ส่วนในรายที่มีอาการหนักมาก อาจต้องใส่ท่อช่วยหายใจและใช้เครื่องช่วยหายใจ โดยให้การดูแลในหอพยาบาลผู้ป่วยวิกฤติจนกว่าอาการจะดีขึ้น


โดยในรายที่มีอาการหนัก อาจมีการติดเชื้อแทรกซ้อนด้วยไวรัสชนิดอื่น ๆ เช่น เชื้อไข้หวัดใหญ่ เชื้อมัยโคพลาสมา หรือเชื้อแบคทีเรียอื่น ๆ ร่วมด้วย ซึ่งคุณหมอจะพิจารณาให้การรักษาที่ครอบคลุมการติดเชื้อเหล่านี้ตามความเหมาะสม


หากติดเชื้อ RSV ควรแยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ


• RSV ป้องกันได้ด้วยวิธีเหล่านี้ 

"กันไว้ดีกว่าแก้" ยังใช้ได้เสมอ เพราะถ้าเกิดลูกได้รับเชื้อ RSV ขึ้นมา คงเป็นการได้ที่ไม่คุ้มเสีย เนื่องจากในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีวัคซีนป้องกันเจ้าเชื้อไวรัสวายร้ายตัวนี้ และถ้าหากอาการมีความรุนแรงอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นนอกจากการดูแลตามปกติที่คุณแม่พึงกระทำแล้ว ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อดังกล่าว จึงต้องเคร่งครัดให้มากยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้ลูกต้องตกเป็นเป้าของไวรัส RSV


โดยวิธีการที่สำคัญที่สุด คือ การล้างมือบ่อย ๆ หรือล้างมือก่อนสัมผัส จับ หรือหอมแก้มลูก เพราะการติดเชื้ออาจเกิดจากการสัมผัสจากผู้อื่นที่ป่วยหรือเป็นพาหะได้  คุณแม่จึงควรระมัดระวัง กำชับให้ล้างมือก่อน เพราะอาจเผลอแพร่เชื้อให้ลูกของคุณแม่โดยไม่รู้ตัว โดยการล้างมือนั้นสามารถจะลดเชื้อที่ติดมากับมือได้ถึงร้อยละ 70


และถ้าหากมีการติดเชื้อ RSV หรือแสดงอาการแล้ว ควรแยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ เพื่อป้องกันการไอ จาม แพร่กระจายเชื้อสู่คนรอบข้าง โดยหากลูกเริ่มเข้าเนิร์สเซอรี่หรือโรงเรียนแล้ว ควรให้หยุดอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ


คงไม่มีคุณแม่คนไหนอยากเห็นลูกต้องเจ็บไข้ได้ป่วย เพราะฉะนั้นแล้วจึงนอกจากการเลี้ยงดูลูกอย่างดีที่สุดแล้ว ยังต้องเฝ้าระวังเชื้อโรคต่าง ๆ ที่จะเข้ามากล้ำกรายด้วย อย่าง RSV เชื้อไวรัสที่คุณแม่ต้องเฝ้าระวังในเด็กเล็ก อาจจะดูเผิน ๆ แล้วเหมือนไข้หวัดธรรมดา แต่ก็ไม่ควรประมาท เพราะในความเป็นจริงแล้วรุนแรงกว่านั้น และอันตรายอาจถึงชีวิตได้ แต่คุณแม่สามารถป้องกันได้ ด้วยวิธีการดังกล่าวข้างต้น จะเป็นปราการด่านแรกที่สามารถช่วยลดโอกาสเสี่ยงของการติดเชื้อไวรัส RSV หรือถ้าหากมีข้อสงสัย ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาอาการป่วยตั้งแต่เนิ่น ๆ