โรคซึมเศร้าในเด็ก ชวนคุณพ่อคุณแม่เช็คอาการลูกก่อนเกิดปัญหา

13 Feb 18 pm28 16:59

เป็นเรื่องน่าตกใจที่เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีเด็กไทยฆ่าตัวตายต่อเนื่องกันหลายคน ซึ่งอาการของ "โรคซึมเศร้า" ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เด็กไทยตัดสินใจฆ่าตัวตาย ทำให้ในยุคนี้ มีคนให้ความสนใจเกี่บงกับโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายคนไม่เข้าใจบวกกับค่านิยมที่คิดว่าการไปหาจิตแพทย์เป็นเรื่องที่น่าอาทำให้เกิดการแก้ปัญหาผิดๆ ได้ และที่สำคัญ เด็กเล็กๆ ที่คุณพ่อคุณแม่อาจคิดว่าไม่น่าจะมีความเครียดอะไร ก็อาจจะเป็นโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน 

Happy Mom.Life จึงอยากชวนคุณพ่อคุณแม่มาทำความรู้จักกับเจ้าโรคซึมเศร้า รวมทั้งวิธีการสังเกตลูกรักว่าเข้าข่ายเป็นโรคนี้หรือไม่ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัว เราจึงอยากให้คุณพ่อคุณแม่ใส่ใจให้มากๆ ค่ะ


ความเศร้าเกิดขึ้นได้กับทุกคน


โรคซึมเศร้า (depression) เป็นความผิดปกติทางจิตเวชชนิดหนึ่ง สามารถเกิดขึ้นได้แม้แต่กับเด็กเล็กๆ โดยผู้ป่วยมักมีอาการซึมเศร้าที่ยาวนาน ติดต่อกันเกือบทั้งวัน ทุกวัน มากกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งเจ้าโรคซึมเศร้านี้มีปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคอยู่หลายปัจจัย ได้แก่


1. ปัจจัยจากตัวผู้ป่วยเอง เช่น ปัญหาทางร่างกาย พันธุกรรม โรคบางชนิด

2. บุคลิกภาพ ก็อาจจะกระตุ้นให้เกิดโรคนี้ได้ เช่น ผู้ป่วยมีความคิดมองตัวเองในแง่ลบ มองโลกในแง่ร้าย

3. ยาบางชนิด ซึ่งสามารถก่อให้เกิดอาการซึมเศร้าได้

4. ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาครอบครัว การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน เด็กถูกเพื่อนแกล้ง เป็นต้น


โรคซึมเศร้าไม่ใช่เรื่องไกลตัว และไม่ใช่เรื่องที่น่าอายจนไม่สามารถรับความจริงได้ เราอยากให้คุณพ่อคุณแม่มองว่าโรคนี้เป็นอาการไม่สบายชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถรักษา แก้ปัญหา และดูแลให้ดีขึ้นได้ หากพบว่าลูกรักมีอาการที่เข้าข่ายว่าจะเป็นโคซึมเศร้า คุณพ่อคุณแม่ก็ควรจะเปิดใจ ยอมรับ และหาทางแก้ไขเพื่อช่วยลูกน้อย ดีกว่าปล่อยไปเฉยๆ นะคะ

 

pexels.com


 อาการทั่วไปของคนเป็นโรคซึมเศร้า

เวลาลูกเป็นหวัด เราสามารถสังเกตความผิดปกติทางกายได้ เช่น ลูกมีอาการไอ จาม ตัวร้อน เช่นเดียวกันค่ะ เวลาเด็กเป็นโรคซึมเศร้า เด็กๆ ก็จะมีอาการแสดงออกมาให้เห็นเช่นกัน โดยส่วนมาก อาการของโรคซึมเศร้าจะแสดงออกมาดังนี้ค่ะ


1. มีอาการซึมเศร้า เบื่อหน่าย หรือก้าวร้าว หงุดหงิด

2. รับประทานอาหารได้น้อย ไม่อยากอาหาร น้ำหนักลดลง

3. เฉื่อยชา ทำอะไรช้าๆ นอนไม่หลับ นอนหลับๆ ตื่นๆ หรือนอนทั้งวันทั้งคืน

4. ไม่มีสมาธิ ความจำแย่ลง ทำอะไรผิดพลาดบ่อย

5. คิดอยากฆ่าตัวตาย หรือคิดถึงเรื่องความตาย



  วิธีสังเกตลูกรักก่อนจะสายเกินแก้

สำหรับเด็กๆ นั้น เมื่อเขามีปัญหาหรือมีอาการของโรคซึมเศร้า เด็กๆ อาจจะไม่เข้าใจตัวเอง ไม่สามารถเดินมาบอกคุณพ่อคุณแม่ได้ว่า เขากำลังมีปัญหาเป็นโรคซึมเศร้า แต่เด็กๆ จะต้องทุกข์ทรมานกับโรคนี้อยู่เพียงลำพัง คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยลูกรักได้ด้วยการคอยดูแล สังเกตอาการ โดยให้ลองสังเกตดูว่า ลูกมีอาการเหล่านี้หรือไม่ค่ะ


1. เก็บเนื้อเก็บตัว ชอบอยู่คนเดียว

หากลูกรักมีอาการเข้าข่ายการเป็นโรคซึมเศร้า เด็กๆ อาจจะเก็บขังตัวเองอยู่ในห้อง ไม่ออกมาพบเจอคุณพ่อคุณแม่หรือใครๆ ชอบที่จะอยู่ในห้องเพียงลำพัง ไม่ค่อยพูดเหมือนเมื่อก่อน


2. มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป

จากที่เคยเป็นเด็กร่าเริง เด็กที่มีภาวะซึมเศร้ามักจะแสดงพฤติกรรมเศร้าหรือก้าวร้าวเป็นพิเศษขึ้นมาได้ บางคนอาจหงุดหงิดง่าย ร้องไห้ง่าย ร้องไห้บ่อย เงียบๆ ไม่ค่อยพูดจา


3. กลายเป็นเด็กขี้เกียจ

คนที่มีภาวะซึมเศร้ามักไม่อยากทำกิจกรรมอะไร แม้แต่สิ่งที่เคยชอบทำมากๆ เช่นเด็กที่เคยชอบวาดภาพ ก็อาจจะไม่อยากวาดภาพอีกต่อไป


4. พฤติกรรมเหม่อลอย

เด็กอาจชอบนั่งซึม เหม่อลอยอยู่บ่อยๆ แม้ว่าอาการนี้อาจจะเกิดจากปัจจัยอื่นๆ ได้ แต่ก็เป็นอาการหนึ่งที่อาจสื่อให้คุณพ่อคุณแม่รู้ว่า ลูกกำลังต้องการความช่วยเหลือจากคุณพ่อคุณแม่ เพราะเขาอาจกำลังมีปัญหา


5. สังเกตจากการพูดคุย

เด็กที่มีภาวะซึมเศร้าอาจพูดถึงการหนีออกจากบ้าน หรือความตายบ่อยๆ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ควรให้ความสำคัญ หันหน้ารับฟังปัญหาของลูกค่ะ


หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นว่าลูกรักมีอาการดังที่กล่าวมาแล้ว ก็อย่านิ่งนอนใจไปนะคะ เพราะอาการเหล่านี้อาจบ่งชี้ว่าลูกมีภาวะเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้าได้ คุณพ่อคุณแม่อาจต้องหาทางเตรียมรับมือ เพื่อช่วยเหลือลูกน้อยค่ะ


สังเกตลูกเมื่อมีอาการซึมเศร้า


 รับมือลูกเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้า

ในภาวะที่เด็กเป็นโรคซึมเศร้า หรือเข้าข่ายว่าอาจจะเป็นโรคนี้ คุณพ่อคุณแม่จะเป็นคนที่ช่วยเหลือลูกรักได้ดีที่สุดค่ะ เพราะสำหรับเด็กแล้ว คุณพ่อคุณแม่คือโลกที่สำคัญของเขา เราอยากให้คุณพ่อคุณแม่ใจเด็กๆ และช่วยเหลือเด็กๆ ให้พ้นจากความทรมานจากโรคร้ายนี้ค่ะ


1. ใส่ใจ ให้กำลังใจ

คุณพ่อคุณแม่อาจจะเข้าไปพูดคุยกับลูก ถามถึงปัญหา คอยสังเกตอาการ และให้กำลังใจ โดยหลีกเลี่ยงการดุด่าว่ากล่าว หรือทำให้เด็กรู้สึกผิด รู้สึกแย่ รู้สึกว่าตัวเองอ่อนแอ ไร้คุณค่า


3.ให้ความรัก 

คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยให้ความรัก ความใกล้ชิด ทำให้ลูกรักรู้ว่า คุณอยู่เคียงข้างเขาเสมอไม่ว่าเขาจะดีเลวแค่ไหน หรือเกิดอะไรขึ้นก็ตาม


4. พบจิตแพทย์

ให้คุณพ่อคุณแม่คอยสังเกตอาการ โดยร่วมมือกับคุณครูช่วยกันดูแลเด็ก หากอาการไม่ดีขึ้น อย่าอายที่จะยอมรับ และพาลูกไปหาจิตแพทย์ โดยในบางเคส คุณพ่อคุณแม่ก็อาจต้องเข้ารับการบำบัดพร้อมลูก เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาให้ถูกทางค่ะ


ความทรมานจากการเป็นโรคซึมเศร้านั้น ไม่มีใครอยากเป็น อยากจะสัมผัส เราเชื่อว่าไม่มีผู้ป่วยคนไหนอยากจะเป็นโรคนี้ ดังนั้นหากพบว่าลูกรักหรือคนใกล้ตัวเข้าข่ายจะเป็นโรคซึมเศร้า นั่นเป็นสัญญาณขอความช่วยเหลือที่สำคัญมาก อย่าลืมที่จะใส่ใจพวกเขา และหากอาการชัดเจนมาก ก็อย่าอายที่จะพาลูกไปพาไปรักษากับจิตแพทย์ เพื่อใก้ลูกได้รับการรักษาที่ถูกวิธี ก่อนที่จะสายเกินแก้นะคะ