ดาวน์โหลดฟรี! คู่มือดูแลเด็กสมาธิสั้น พร้อมแนวทางการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม

05 Oct 18 am31 10:41

ปัญหาสุขภาพจิตในเด็กและวัยรุ่นที่พบได้บ่อยและกำลังได้รับความสนใจมากขึ้นในกลุ่มผู้ปกครองและครู คือ โรคสมาธิสั้น หรือ Attention-deficit hyperactivity disorder (ADHD) ซึ่งต้องอาศัยการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี เพื่อให้เด็กเติบโตและดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปกติในสังคม Happy Mom.Life มีตัวช่วยหรือเครื่องมือที่จะเป็นแนวทางให้คุณแม่นำไปปรับใช้เพื่อให้การดูแลเด็กสมาธิสั้นเป็นไปอย่างถูกต้องและเหมาะสมมาฝากกันค่ะ 


 คู่มือดูแลเด็กสมาธิสั้น 


สาเหตุและอาการของโรคสมาธิสั้น 

โรคสมาธิสั้น เป็นโรคที่เกิดจากความบกพร่องของพัฒนาการ ส่งผลต่อการทำหน้าที่ของสมองทำให้มีปัญหาทางพฤติกรรมทางด้านสมาธิและการควบคุมตนเอง ทั้งยังส่งผลต่อครอบครัว และมีผลกระทบระดับประเทศ สูญเสียทรัพยากรบุคคล และงบประมาณการดูแลรักษาจำนวนมาก ซึ่งถ้าหากแบ่งกลุ่มอาการหลักของโรคสมาธิสั้น จะแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ 

  1. กลุ่มอาการขาดสมาธิ เช่น เหม่อลอย ขี้ลืม ไม่มีสมาธิในการเล่นหรือการทำงาน วอกแวกง่ายจากสิ่งเร้าต่าง ๆ เป็นต้น
  2. กลุ่มอาการอยู่ไม่นิ่ง หุนหันพลันแล่น เช่น มักยุกยิกอยู่ไม่สุข ปีนป่าย พูดมาก พูดแทรก อดทนรอคอยไม่ได้ เป็นต้น


แม่และลูก กับอาการของโรคสมาธิสั้นที่ส่งผลต่อพฤติกรรม


ในบางรายมีทั้ง 2 กลุ่มอาการผสมกัน หากไม่ได้รับการวินิจฉัยรักษา และปรับพฤติกรรมอย่างถูกต้องและเหมาะสมโดยเร็ว จะส่งผลกระทบทางลบในเวลาต่อมา


แม่และลูกใช้เวลาร่วมกันปรับพฤติกรรมที่ถูกต้องเหมาะสม


ทั้งนี้ โรคสมาธิสั้นในเด็กเป็นโรคที่รักษาให้หายได้ โดยเด็กสามารถที่จะเรียนหนังสือหรือทำงานได้ โดยไม่ต้องรับประทานยา มีโอกาสประสบความสำเร็จและดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างปกติ อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็ก ถือเป็นบุคคลสำคัญที่ต้องมีความเข้าใจและมีทัศนคติที่ถูกต้องก่อน ตลอดจนการร่วมปรับพฤติกรรมตามแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป


คู่มือการคัดกรองและปรับพฤติกรรมเด็กสมาธิสั้นสำหรับผู้ปกครอง


สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข หรือ สวรส. และกรมสุขภาพจิต ได้พยายามแก้ไขปัญหาโรคสมาธิสั้นในเด็ก เพื่อให้เด็กได้รับการรักษาและดูแลอย่างต่อเนื่อง โดย “โรคสมาธิสั้นในเด็ก เป็นโรคเรื้อรังที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ” จึงมีการพัฒนาแนวทางบริการเด็กโรคสมาธิสั้นแบบบูรณาการระหว่างผู้ปกครอง ครู และบุคลาการทางการแพทย์ ตั้งแต่กระบวนการคัดกรอง ส่งต่อ วินิจฉัย บำบัดรักษา และติดตามที่ชัดเจน


แนวทางการรักษาโรคสมาธิสั้น 

สำหรับแนวทางการดูแลเด็กโรคสมาธิสั้น เริ่มได้จากที่บ้านโดยพ่อแม่ผู้ปกครอง มีส่วนสำคัญในการสังเกตความผิดปกติด้านอารมณ์ พฤติกรรมต่าง ๆ ควบคู่กับการใช้แบบประเมินคัดกรองโรคสมาธิสั้นหรือพฤติกรรม ต่อจากนั้นคุณครูจะร่วมสังเกตความผิดปกติด้านอารมณ์และพฤติกรรมต่าง ๆ ควบคู่กับการประเมินด้วยแบบคัดกรองความบกพร่องทางการเรียนรู้และออทิซึม และติดตามผล โดยโรงพยาบาลจะประเมินอาการ ให้ความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับโรค การปรับพฤติกรรมที่บ้านและโรงเรียน การลดปัจจัยเสี่ยง ติดตามอาการ และส่งต่อเพื่อปรับพฤติกรรมโดยนักจิตวิทยาควบคู่กับแพทย์วินิจฉัยโรคสมาธิสั้น


แนวทางบริการเด็กโรคสมาธิสั้น


ดาวน์โหลดฟรี! คู่มือการคัดกรองและปรับพฤติกรรมเด็กสมาธิสั้น

พ่อแม่ผู้ปกครองและคุณครู สามารถค้นหาและดาวน์โหลดคู่มือการคัดกรองและปรับพฤติกรรมเด็กสมาธิสั้น และคู่มือสำหรับครูในการดูแลและส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กได้ทางเว็บไซต์