เฝ้าระวัง “โรคซึมเศร้าหลังคลอด” อย่าปล่อยให้ต้องมีแม่ลูกอ่อนฆ่าตัวตายไปอีกคน

08 Jun 18 pm30 16:05

"ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด" เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ทั้งทางร่างกาย เช่น การเปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหันของฮอร์โมน ปัญหาความเครียดจากการให้นมลูก ความเจ็บปวดของร่างกาย และปัจจัยภายนอก เช่น ความกดดันจากคนรอบข้าง การนอนไม่พอ ฯลฯ ซึ่งทุกอย่างมักรวมกันจนทำให้คุณแม่รู้สึกเศร้า ท้อแท้ หดหู่ อ่อนไหว และที่น่ากังวลก็คือ ภาวะซึมเศร้านี้ อาจพัฒนากลายเป็น “โรคซึมเศร้า” หรืออาจมากไปจนถึงการเป็น “โรคทางจิต” ได้ 

Happy Mom.Life ขอชวนคุณแม่มาทำความรู้จักกับความแตกต่างของภาวะทั้ง 3 นี้ เพื่อหาทางป้องกันแก้ไขอย่างถูกต้องค่ะ


หลังคลอด ร่างกายของคุณแม่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก คุณแม่หลังคลอดส่วนหนึ่งมีอาการซึมเศร้าประมาณ 2-3 วัน แต่หากได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง ปัญหาเหล่านี้ก็จะค่อยๆ หายไปได้


1. ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

เป็นภาวะที่พบได้ประมาณ 50-70% ของคุณแม่หลังคลอด มักปรากฏให้เห็น 2-5 วันแรกหลังคลอด และเป็นนานไม่เกิน 2 สัปดาห์ คุณแม่อาจมีอาการสับสน อ่อนไหว อารมณ์แปรปรวน วิตกกังวล อ่อนเพลีย กินอาหารได้น้อยลง ร้องไห้ไม่มีสาเหตุ


2. โรคซึมเศร้าหลังคลอด

พบประมาณ 10-15% ของคุณแม่หลังคลอดที่มีอาการซึมเศร้า หากมีอาการเศร้าเกิน 2 สัปดาห์หลังคลอด อาจเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอด โดยผู้ป่วยมักมีอาการของโรคซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย วิตกกังวล คิดว่าตนเองเป็นแม่ที่ไม่ดี อาจมีอาการปวดศีรษะ และอาจเรื้อรังคิดอยากทำร้ายตัวเอง หรือทำร้ายลูก จำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษาอย่างเร่งด่วน


3. โรคจิตหลังคลอด

พบได้ไม่บ่อยนัก แต่ก็เป็นอีกหนึ่งอาการที่ควรเฝ้าระวังเป็นอาการที่มีผลต่อเนื่องมาจากโรคซึมเศร้าหลังคลอด ผู้ป่วยจะมีอาการหงุดหงิด สับสน นอนไม่หลับอารมณ์เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย อารมณ์ไม่สัมพันธ์กับเหตุการณ์ หากมีอาการมาก อาจถึงขั้นได้ยินเสียงแว่ว เห็นภาพหลอน ทำร้ายตัวเองหรือลูก สับสนระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องไม่จริง อยากฆ่าตัวตายหรือทำการฆาตกรรม จำเป็นต้องได้รับการบำบัดในโรงพยาบาล



วิธีป้องกันปัญหาจากโรคซึมเศร้าหลังคลอด


แม้ว่าโอกาสที่คุณแม่หลังคลอดจะมีการพัฒนาจากภาวะซึมเศร้าไปเป็นโรคซึมเศร้าหรือถึงขั้นเป็นโรคจิตนั้นจะมีไม่มากนัก แต่ก็เป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยมีสถิติคุณแม่หลังคลอดที่ฆ่าตัวตาย หรือทำร้ายลูกน้อยจากโรคซึมเศร้านี้ออกมาให้เห็นอยู่เรื่อยๆ ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น เราขอแนะนำให้มีการดูแลป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนค่ะ ซึ่งจากที่รวบรวมข้อมูลมา เราขอแนะนำดังนี้ค่ะ


เป็นแม่ลูกอ่อนที่มีความสุขได้ไม่ยาก


1. วางแผนและดูแลร่างกายให้แข็งแรง

การวางแผนก่อนการตั้งครรภ์เป็นเรื่องสำคัญมากนะคะ เพราะหากคุณแม่และคุณพ่อมีการวางแผนเพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นทั้งระหว่างตั้งครรภ์และหลังตั้งครรภ์ไว้แล้ว ก็สามารถช่วยลดความวิตกกังวลหรือความเครียดจากปัญหาที่เกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ คุณแม่เองก็อย่าลืมดูแลร่างกายให้แข็งแรงเสมอ เพื่อลดอาการที่อาจเกิดขึ้นกับร่างกายหลังคลอดค่ะ


2. ฝากครรภ์และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของคุณหมอ

เมื่อคุณแม่ไปฝากครรภ์ คุณหมอจะคอยดูแลและให้คำแนะนำคุณแม่อย่างใกล้ชิด ทั้งการดูแลสุขภาพกายและใจให้แข็งแรง และหากคุณแม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอ ก็สามารถลดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้มากเลยทีเดียวค่ะ


3. หาคนช่วยเหลือและให้กำลังใจ

การเลี้ยงลูกเป็นงานที่หนักและต้องใช้ความอดทน ใช้พลังค่อนข้างมาก คุณแม่จึงอย่าเอาทุกอย่างมาแบกไว้คนเดียว และอาจมองหาผู้ช่วย เช่นคุณสามี หรือคนอื่นๆ ในบ้านให้ช่วยแบ่งเบาภาระ คุณแม่ก็จะลดความเครียดลงได้มากเลยล่ะค่ะ



คุณแม่แฮปปี้ถ้ามีผู้ช่วย


4. ไม่คาดหวังมากจนเกินไป

ความเครียดของคุณแม่หลังคลอด ส่วนหนึ่งเกิดจากความคาดหวังที่มากเกินไปจนกลายเป็นความกดดัน เช่นคาดหวังว่าตัวเองต้องเป็นแม่ที่ดีที่สุด คาดหวังว่าจะต้องมีน้ำนมมากๆ ให้ลูก คาดหวังว่าคนอื่นๆ จะเข้าใจเรา สุดท้ายเลยกลายเป็นความเครียดที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้ารุนแรง


5. หากิจกรรมนอกบ้านทำบ้าง

การอยู่แต่ในบ้าน อาจจะทำให้คุณแม่หลังคลอดเกิดความเครียดสะสมได้ แนะนำให้คุณแม่ออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านเพื่อผ่อนคลายบ้าง จะทำให้รู้สึกดีดีขึ้น และความเครียดน้อยลงได้ค่ะ


6. อย่าอายที่จะไปหาจิตแพทย์

หากคุณแม่รู้สึกว่าตัวเองไม่ค่อยปกติ เช่นมีความเศร้ามาก กินไม่ได้ นอนไม่หลับ และรู้สึกทุกข์ทรมาน แนะนำให้ไปพบจิตแพทย์ และอย่าอายที่จะบอกความจริงกับจิตแพทย์ว่าเกิดอะไรขึ้น เพื่อแก้ปัญหาได้ทันท่วงทีค่ะ


โรคซึมเศร้าหลังคลอด แม้จะเป็นโรคที่ไม่มีอาการแสดงออกชัดเจนเหมือนโรคทางกาย แต่ก็ถือเป็นโรคภัยชนิดหนึ่งที่ต้องได้รับการบำบัดรักษาให้ถูกต้อง และต้องได้รับความร่วมมือจากคนรอบข้างในการดูแลผู้ป่วยอย่างเข้าใจ ก่อนที่จะสายเกินไป และเกิดเรื่องเศร้าขึ้นในครอบครัวนะคะ