พ่อแม่ทะเลาะกันส่งผลต่อลูกมากกว่าที่คิด คุมอารมณ์สักนิดก่อนบานปลาย ลูกกลายเป็นเด็กมีปัญหา

08 Aug 18 pm31 19:38

การที่ลูกได้ยินหรือเห็นพ่อแม่ทะเลาะกัน โดยใช้อารมณ์และถ้อยคำที่รุนแรง ลุกลามไปจนถึงการลงไม้ลงมือตบตีกัน ส่งผลต่อสภาพจิตใจของลูกมากกว่าที่คิดนะคะ อย่าคิดว่านี่เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ ไม่ใช่เรื่องของเด็ก แต่ซ้ำร้ายยังจะกลายเป็นภาพความทรงจำที่ติดอยู่ในใจของลูก ซึ่งถ้าหากไม่ได้รับการเยียวยาอย่างถูกวิธี เด็กคนนี้ก็จะเติบโตไปเป็นเด็กมีปัญหาและเป็นปัญหาของสังคม    


พ่อแม่ทะเลาะกันส่งผลให้ลูกเป็นเด็กมีปัญหา

newjerseydivorcetalkradio.com


จริงอยู่ที่สามีภรรยาเป็นเหมือนลิ้นกับฟันที่อาจจะกระทบกระทั่งกันบ้าง แต่เมื่อมีการทะเลาะกัน ปล่อยใหัอารมณ์อยู่เหนือเหตุผลจนควบคุมไม่ได้ ลืมนึกถึงลูกที่อยู่ท่ามกลางสถานการณ์ที่พ่อแม่เต็มไปด้วยอารมณ์ที่กำลังเดือดปุด ๆ อยู่นั้น แล้วแบบนี้จะมีวิธีจัดการอย่างไร Happy Mom.Life มีมาฝากกัน เพื่อไม่ให้กลายเป็นเรื่องบานปลาย ส่งผลกระทบให้ลูกกลายเป็นเด็กมีปัญหาในภายหลัง


มีผลการศึกษาชี้ว่า เวลาลูกเห็นพ่อแม่ทะเลาะกัน ความรู้สึกที่มีผลกระทบต่อจิตใจ มีตั้งแต่

• เสียใจ เศร้าและหดหู่

• โกรธ เคียดแค้น

• กลัว กังวล

• เบื่อและเซ็ง

• หมดกำลังใจ ท้อแท้

• เครียด เก็บกด และถูกกดดัน

ผลกระทบเหล่านี้จะรุนแรงเพียงใดขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงในการทะเลาะกันของพ่อแม่ เมื่อถูกกระทบบ่อย ๆ และเด็กไม่สามารถขจัดความรู้สึกที่เกิดขึ้นออกไปจากจิตใจได้ มันจะค่อย ๆ เป็นปมฝังลึกไว้ในใจ กลายเป็นปัญหาทางจิตใจซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบุคลิกภาพ อารมณ์ และการปรับตัวเมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่


การทะเลาะกันของพ่อแม่ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของลูก


จัดการอย่างไร? เพื่อเยียวยาสภาพจิตใจลูก

พ่อแม่อาจจะคิดว่าลูกยังเล็ก เวลาทะเลาะกันไม่น่าจะรู้เรื่อง แต่จริง ๆ แล้ว แม้เด็กจะยังไม่เข้าใจเนื้อหาที่พ่อแม่ทะเลาะกัน แต่ความรู้สึกที่รุนแรง อารมณ์โกรธ แค้นเคืองใจ ที่ต่างฝ่ายส่งให้กันและกัน และเด็กต้องอยู่ท่ามกลางระหว่างสถานการณ์นั้น ก็สามารถจะรับรู้ได้ถึงบรรยากาศ อารมณ์ของพ่อแม่ ซึ่งแน่นอนว่ามีผลกระทบกับสภาพจิตใจของเด็กเป็นอย่างมาก 

วิธีการจัดการเยียวยาสภาพจิตใจลูก สามารถทำได้โดย

1.การปลอบโยน เป็นการดูแลสภาพจิตใจของลูกที่กำลังรู้สึกสภาพจิตใจย่ำแย่ในขณะนั้น

2. พูดคุยและอธิบายให้เด็กเข้าใจถึงปัญหา โดยใช้ภาษาที่เด็กเข้าใจง่าย ไม่ใช้อารมณ์ หรืออคติต่อกัน

3. แสดงให้ลูกรู้สึกมั่นใจว่าพ่อแม่ยังคงรักลูกเหมือนเดิม การที่พ่อแม่ทะเลาะกันไม่ได้ทำให้พ่อแม่รักลูกน้อยลง

อย่าลืมว่าการทะเลาะกันไม่ใช่เรื่องของคนสองคน ไม่ว่าจะทะเลาะกันเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ หรือต่อให้เดินไปต่อด้วยกันไม่ได้ ต้องยุติความสัมพันธ์ฉันท์สามีภรรยา แต่บทบาทความเป็นพ่อแม่ก็ยังดำเนินต่อไป และทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเพื่อลูกจะได้กลายเป็นเด็กมีปัญหาของสังคม


การปลอบโยนลูกที่พ่อแม่ไม่ควรละเลย 


จัดการอย่างถูกวิธี เมื่อมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน

การทะเลาะกันของพ่อแม่ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นด้วยสาเหตุใดก็ตาม 

1. ควรโต้เถียงกันในพื้นที่ส่วนตัว ไม่ให้ลูกได้ยิน

2. พูดคุยกันด้วยเหตุผล ให้เกียรติ และไม่ใช้ถ้อยคำหรือการกระทำที่รุนแรง เพื่อลดการกระทบกระทั่ง

3. แยกกันไปสงบสติอารมณ์ เมื่อใจเย็นแล้วค่อยกลับมาคุยกันใหม่

4.คุยกันผ่านข้อความตัวอักษร เช่น ทางจดหมาย หรือพิมพ์ผ่านไลน์ เพื่อลดการกระทบกระทั่ง และยังทำให้ได้ไตร่ตรองข้อความที่เขียนหรือพิมพ์ออกมาก่อนจะส่งออกไป


สามีภรรยาควรคุยถึงปัญหาในพื้นที่ส่วนตัว ไม่ให้ลูกได้ยิน

mustbethistalltoride.com


เมื่อตกลงใช้ชีวิตเป็นครอบครัวเดียวกัน แน่นอนว่าไม่ได้มีแค่บทบาทของสามีภรรยาเท่านั้น แต่ยังควบบทบาทของความเป็นพ่อแม่ที่ต้องให้ความสำคัญกับลูกมาเป็นอันดับหนึ่ง อย่าให้อารมณ์เพียงชั่ววูบของพ่อแม่สร้างปัญหาให้ลูกกลายเป็นเด็กมีปัญหาในระยะยาวนะคะ