มาเช็กอาการ "ลูกขาโก่ง" ที่ไม่ควรมองข้าม ทุกก้าวย่างมีความสำคัญ

17 Aug 18 pm31 18:08

สุขภาพของลูกเป็นเรื่องที่คุณแม่ต้องให้ความสำคัญ ตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนกระทั่งลูกคลอดออกมาลืมตาดูโลก และจากนี้ทุก ๆ ช่วงวัย นอกจากเรื่องสุขภาพแล้ว พัฒนาการด้านต่าง ๆ ของลูกในทุกช่วงวัยเป็นเรื่องที่คุณแม่ต้องให้ความสำคัญ ซึ่งอีกหนึ่งเรื่องที่คุณแม่มือใหม่ไม่ควรมองข้ามก็คือ การดูว่าลูกของเรานั้นมีปัญหาขาโก่งหรือไม่ Happy Mom.Life มีข้อมูลมาฝากอีกเช่นเคย ไปเช็กพร้อมกันค่ะว่าถ้าลูกของคุณแม่เข้าข่ายมีปัญหาขาโก่งแล้วจะมีวิธีการแก้ไขอย่างไร


มาเช็กอาการ "ลูกขาโก่ง" ที่ไม่ควรมองข้าม 


ขาโก่งเป็นอาการที่สามารถพบได้บ่อยในเด็กช่วงวัยก่อน 2 ขวบ โดยจะสังเกตได้ชัดเจนในช่วงที่เด็กเริ่มมีพัฒนาการการเดิน เป็นอาการที่หัวเข่าทั้ง 2 ข้างโค้งแยกจากกันในขณะที่ยืนเท้าชิดติดกัน

สาเหตุของอาการขาโก่งนี้แบ่งเป็นขาโก่งตามธรรมชาติ จากพัฒนาการของการสร้างขาเด็กตั้งแต่ในครรภ์มารดาโดยอาการจะดีขึ้นและหายไปเมื่อเด็กเริ่มยืดขาได้และเดิน ส่วนใหญ่แล้วเด็กจะขาโก่งจากสาเหตุนี้

ส่วนขาโก่งที่พบน้อย จะเกิดจากโรคต่าง ๆ เช่น กระดูกผิดรูป กระดูกแตกหรือหัก ความผิดปกติของกระบวนการเจริญเติบโตของกระดูก โรคกระดูกอ่อน เป็นต้น สามารถสังเกตได้จากขา 2 ข้างโก่งไม่เท่ากัน ขาโก่งมากขึ้นเรื่อย ๆ เด็กตัวเตี้ย ซึ่งถ้าหลังจาก 3 ขวบไปแล้ว ยังมีลักษณะขาโก่งและเดินเหมือนเป็ด ให้ถือว่ามีความผิดปกติ


คุณแม่ต้องหมั่นสังเกตอาการลูก


ขาโก่งเป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันความผิดรูปของขาที่จะโก่งมากขึ้น หรือภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงในอนาคต หากคุณแม่สังเกตพบความผิดปกติที่เกิดขึ้น หรือสงสัยว่าเด็กจะมีอาการขาโก่ง ควรรีบไปพบคุณหมอผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการตรวจรักษา อย่าดัดขาหรือบิดเท้าให้เด็กเอง คุณหมอจะเป็นผู้ให้การรักษาแบบเฉพาะเจาะจงในเด็กแต่ละราย


 วิธีการรักษา มี 2 แบบ คือ

1.การรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด โดยจะให้เด็กใส่อุปกรณ์ช่วยดามบริเวณที่ขาโก่ง แต่อาจไม่เกิดประสิทธิผลทางการรักษาในเด็กที่เข้าสู่วัยรุ่นแล้ว ซึ่งจะต้องเข้ารับการรักษาและติดตามผลอย่างต่อเนื่อง

2.การรักษาโดยการผ่าตัด หลังการผ่าตัดคุณหมอจะใส่เฝือกไว้ในระหว่างที่กระดูกกำลังฟื้นฟู และใช้ไม้เท้าช่วยพยุงตัวในช่วง 2-3 สัปดาห์แรก ในระหว่างที่พักฟื้น โดยเด็กจะต้องทำกายภาพบำบัดและออกกำลังกายร่วมด้วย เพื่อความแข็งแรงและกระตุ้นการเคลื่อนไหวของร่างกาย

 


ขาโก่งแม้จะไม่ใช่โรคร้ายแรงที่ส่งผลต่อชีวิต แต่เป็นปัญหาตามมาในอนาคตอย่างแน่นอน หลัก ๆ ที่เห็นได้ชัดเลยก็คือเรื่องบุคลิกภาพ ลูกอาจสูญเสียความมั่นใจได้ เพราะฉะนั้นแล้วคุณแม่ต้องสังเกตอาการและความผิดปกติเพื่อจะได้รักษาได้อย่างถูกวิธี