ก่อนจะจัดการลูกดื้อด้วยวิธี Time out พ่อแม่อย่างเราต้องรู้จัก Time in ก่อน

17 Aug 18 pm31 20:59

ทำเอาคนเป็นพ่อเป็นแม่อย่างเรา ๆ ปวดหัวกันไม่น้อย เพราะไม่รู้หาวิธีไหนมาจัดการกับลูกที่ดื้อเสียเหลือเกิน ทั้งขว้างปาข้าวของ เล่นของเล่นแล้วไม่ยอมเก็บเข้าที่ พ่อแม่บอกอะไรก็ไม่ยอมฟัง เชื่อว่าแต่ละบ้านก็จะต้องมีวิธีรับมือที่แตกต่างกันไป ซึ่งหนึ่งในวิธีที่นิยมนำมาจัดการลูกดื้อก็คือการ Time out


ก่อนจะจัดการลูกดื้อด้วยวิธี Time out พ่อแม่อย่างเราต้องรู้จัก Time in ก่อน


แต่ก่อนจะเลือกวิธีใช้วิธี time out จัดการกับลูกดื้อ Happy Mom.Life อยากให้พ่อแม่เข้าใจพฤติกรรมของเด็กในแต่ละช่วงวัยกันก่อนว่า เด็กแต่ละช่วงวัยนั้นจะมีสภาวะอารมณ์ที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการเลี้ยงดู และสภาพแวดล้อมเป็นสำคัญ ส่วนการ Time out นั้นไม่ใช่การลงโทษลูกแต่เป็นการสอนและฝึกให้ลูกรู้จักควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของตนเอง เริ่มจากแยกลูกออกจากสถานการณ์ขณะนั้นที่กระตุ้นให้เขาเกิดปัญหาพฤติกรรม มาอยู่ ในมุมสงบ ห่างไกลสิ้งเร้าอารมณ์ โดยที่พ่อแม่ควรอยู่เป็นเพื่อน ไม่ทิ้งให้ลูกอยู่ตามลำพัง เนื่องจากอาจทำให้ลูกเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว ถูกทอดทิ้งได้


พ่อแม่ไม่ทิ้งให้ลูกอยู่ตามลำพัง

parentingforbrain.com


วิธี Time out เหมาะสำหรับเด็กวันเตาะแตะถึงวัยเรียน อาจใช้เวลาในการสงบสติอารมณ์ตามอายุ โดยจำนวนอายุเป็นปี = จำนวนนาทีที่สงบนิ่ง เช่น 2 ขวบก็ 2 นาที 5 ขวบ ก็ 5 นาที หรือถ้าหากลูกสามารถจัดการอารมณ์ของตัวเองให้สงบลงได้ก่อนเวลาที่กำหนด ก็ควรจะออกจากการ Time out

เมื่อลูกสงบสติอารมณ์ได้แล้ว พ่อแม่จึงจะชวนพูดคุยสั้น ๆ ถึงสาเหตุที่ทำให้ลูกต้องถูก Time out ชวนลูกคิดทางเลือกอื่น ๆ ในการแก้ปัญหาแทนการอาละวาด และชวนลูกไปทำกิจกรรมถัดไป หลีกเลี่ยงการสอนที่ยืดยาว เพราะอาจเป็นการเร้าอารมณ์ลูกมากจนเกินไป อาจทำให้ลูกอาละวาดขึ้นมาอีกครั้ง  


ชวนคุยสั้น ๆ ทำความเข้าใจปัญหา

davidemilanese.it


การ Time out จะได้ผลดี ก็ต่อเมื่อพ่อแม่มีการ Time-in กับลูกอย่างสม่ำเสมอ ซึ่ง Time-in ก็คือการใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกับลูกอย่างมีคุณภาพ กล่าวคือมีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูก ให้แรงเสริมทางบวก กล่าวชมเมื่อลูกทำดี หมั่นสังเกตเห็นสิ่งดี ๆ ที่ลูกทำ ไม่ใช่เห็นแต่สิ่งผิด เอาแต่ตำหนิและสั่งให้ลูกไป Time out เพราะหากเป็นเช่นนี้ ลูกก็จะยิ่งทำแต่พฤติกรรมที่ไม่ดี เพราะทำแล้วพ่อแม่สนใจ ถึงแม่จะเป็นคำตำหนิ แต่ลูกก็จะรู้สึกว่าเรียกร้องความสนใจได้สำเร็จ ซึ่งไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง


เด็ก อายุ 2-3 ปี  การใช้วิธี Time out ควรเลือกใช้คำสั่งที่สั้นกระชับเข้าใจง่ายเช่น “หยุด ไปนั่งพัก ไม่ตีน้อง น้องเจ็บ” การอธิบายเหตุผลยาว ๆ กับเด็กวัยนี้อาจไม่ได้ผลนัก เมื่อลูกนั่งพักสงบลงในระยะเวลาที่กำหนดได้แล้ว ควรชวนลูกกลับมาทำกิจกรรมต่อไปได้ตามปกติ

เด็กวัย 4-5 ปีขึ้นไป นอกจากการใช้ Time out พ่อแม่อาจลองใช้วิธี คุยกับลูกเพื่อให้เขาได้ไตร่ตรองสิ่งที่ทำ เช่น เมื่อลูกผลักน้องล้มลง อาจจะเรียกลูกมาแล้วถามว่า “กฎของการเล่นกันคืออะไร” “มีวิธีอื่นไหมที่ทำได้โดยไม่ต้องผลักน้อง” วิธีนี้จะทำให้เด็ก ๆ ได้ฝึกคิดว่าแทนที่จะทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม เขายังมีทางเลือกอื่น ๆ ที่ดีกว่าที่สามารถทำได้


สายสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแม่ลูก

todaysparent.com


พ่อแม่ต้องไม่ลืมว่าสายสัมพันธ์ที่ดีเท่านั้นที่จะช่วยให้ลูกๆ ยอมรับและเชื่อตามคำสอนของเราได้ ดังนั้นแม้จะ Time out กี่ร้อยครั้ง แต่หากพ่อแม่ไม่เคย Time in หรือมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับลูกเลย การปรับพฤติกรรมก็คงจะสำเร็จได้ยาก