"โกนผมไฟ" พิธีโบราณของไทยที่คุณแม่มือใหม่ต้องทำความเข้าใจ เสริมความเป็นสิริมงคลให้ลูกรัก

13 Sep 18 pm30 13:46

ถ้าพูดถึงการโกนผมไฟ คุณแม่ยุคใหม่อาจจะทำหน้างงว่าคืออะไร? ต้องโกนไหม? โกนเมื่อไหร่? ทำอย่างไร? สารพัดคำถามที่ผุดขึ้นในหัว ถ้าจะให้ชัวร์ก็ต้องหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้กันหน่อย Happy Mom.Life มีคำตอบของทุกคำถามมาคลายความสงสัยเกี่ยวกับการโกนผมไฟ พิธีโบราณของไทย เสริมความเป็นสิริมงคลให้ลูกรักอย่างถูกหลักกันนะคะ


"โกนผมไฟ" พิธีโบราณของไทย

pregnant.sg


รู้จักกับการโกนผมไฟหรือพิธีทำขวัญเดือน

การโกนผมไฟเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าพิธีทำขวัญเดือน เป็นพิธีสมัยโบราณที่ทำสืบต่อเนื่องกันมาช้านาน โดยจะทำพิธีเมื่อทารกคลอดออกมาจากครรภ์ของคุณแม่ครบ 1 เดือน เพราะคนสมัยโบราณเชื่อว่า สิ่งที่ติดตัวเด็กมาตั้งแต่ในครรภ์ เส้นผม เล็บมือ เล็บเท้าเป็นของไม่สะอาด ต้องโกนผม โกนคิ้ว ตัดเล็บมือ เล็บเท้าออก นอกจากนี้ยังเชื่อด้วยว่าการโกนผมไฟ จะทำให้เด็กไม่ดื้อ ไม่ซน และเส้นผมขึ้นดกดำค่ะ


ช่วงเวลาที่เหมาะสมของการโกนผมไฟ

ที่ต้องรอให้ทารกแรกเกิดมีอายุครบ 1 เดือนก่อน นั่นเป็นเพราะว่า ทารกที่คลอดใหม่ ๆ กะโหลกศีรษะยังบอบบางอยู่ อีกทั้งคุณแม่ที่เพิ่งคลอดก็ยังต้องใช้เวลาพักฟื้นสักระยะ และวุ่นวายอยู่กับการเลี้ยงทารกน้อย จัดข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ จึงไม่สะดวกนัก ช่วงเวลาที่ทารกแรกเกิดมีอายุครบ 1 เดือนจึงเหมาะสม เพราะถ้าหากโกนผมไฟช้า ก็มีความเชื่อว่าจะทำให้เด็กดื้อและเลี้ยงยาก

นอกจากนี้แล้วด้วยความที่สมัยก่อนการแพทย์ยังไม่เจริญ ระยะเดือนแรกที่ทารกเกิดมาจึงถือว่ายังเป็นช่วงอันตราย อาจเจ็บไข้ไม่สบายถึงกับเสียชีวิตได้ง่าย ๆ เมื่อพ้นเดือนมาแล้วก็พอจะแน่ใจว่าลูกได้ล่วงพ้นอันตรายแล้ว คุณแม่จึงจัดพิธีรับขวัญลูก และบางทีก็เพิ่งมาตั้งชื่อลูกกันตอนนี้เอง 


ขั้นตอนการโกนผมไฟหรือพิธีทำขวัญเดือน

แต่ในปัจจุบัน พิธีรีตองเหล่านี้เริ่มเลือนหายไปตามกาลเวลา  เพราะด้วยสาเหตุของเวลาที่จำกัด บวกกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป คุณแม่มือใหม่ส่วนใหญ่เลยโกนผมไฟกันเอง ซึ่งจะง่ายขึ้นถ้าโกนในช่วงที่ลูกกำลังหลับอยู่


โกนผมไฟในช่วงที่ทารกกำลังหลับอยู่


อุปกรณ์ในการโกนผมไฟ

สิ่งสำคัญต้องระมัดระวังเรื่องความสะอาด อย่าให้มีดโกนเผลอไปบาดศีรษะของทารกเข้านะคะ


เมื่อโกนผมเสร็จแล้ว จะนำเส้นผมและเล็บไปไว้บนใบบอนหรือใบบัว ส่วนหนึ่งคุณแม่จะเก็บใส่กล่องไว้ ส่วนที่เหลือจะใส่ในใบบัวแล้วนำไปลอยน้ำ เพื่อลอยทุกข์โศกโรคภัย ความสกปรกชั่วร้ายให้ไปกับสายน้ำ จากนั้นญาติพี่น้องก็จะทำพิธีผูกข้อมือข้อเท้าทารก พร้อมให้พร

จากนั้นนำดอกอัญชัน โดยขยี้ให้สีของดอกอัญชันออกมา แล้วนำมาทาที่ศีรษะของทารก เพื่อที่ว่าผมที่ขึ้นใหม่จะได้ดกดำมากกว่าเดิม และนอกจากโกนผมไฟแล้ว คิ้วของทารกก็ต้องโกนด้วยเช่นกัน คนโบราณจึงนิยมนำกานพลูมาเขียนคิ้วเพื่อให้คิ้วที่ขึ้นมาใหม่สวยงามได้รูป


เขียนคิ้วด้วยอัญชันให้คิ้วลูกสวยงามได้รูป


อันที่จริงแล้ว การโกนผมไฟเป็นเรื่องของความเชื่อที่ทำเพื่อความสบายใจ สำหรับคุณแม่ยุคใหม่อาจะไม่เห็นความสำคัญเท่าที่ควร แต่เชื่อเถอะว่าผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้เฒ่าผู้แก่ต้องแนะนำให้ทำการโกนผมไฟเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ลูกรัก ซึ่งเชื่อไว้ก็ไม่เสียหลาย เพื่อความสบายใจของทุกฝ่ายและยังเป็นพิธีที่ช่วยสร้างความรักความอบอุ่นในครอบครัวได้เป็นอย่างดีด้วยนะคะ