ลูกพูดคนเดียว...ไม่ได้แปลว่าพูดกับผี เรื่องนี้อธิบายได้!

20 Sep 18 pm30 16:37

คุณพ่อคุณแม่อาจแปลกใจ และแอบกลุ้มใจ เมื่อเห็นลูกวัยอนุบาลพูดคนเดียวราวกับกำลังพูดคุยกับสิ่งที่มองไม่เห็น บางคนอาจมโนต่อไปว่า ลูกกำลังพูดคุยกับผี ปีศาจ แม่ซื้อ หรือวิญญาณที่ไหนหรือเปล่า แต่ในความเป็นจริงแล้วลูกไม่ได้กำลังคุยกับผีค่ะ แต่เขากำลังคุยกับ “เพื่อนในจินตนาการ” ของตัวเองต่างหาก Happy Mom.Life อยากชวนคุณพ่อคุณแม่มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ และเข้าใจวิธีจัดการไปพร้อมๆ กันค่ะ



เพื่อนในจินตนาการ หมายถึงเพื่อนที่เด็กสมมติขึ้นมา บางคนอาจสมมติสิ่งต่างๆ ให้เป็นเพื่อนเช่น ตุ๊กตา หมอน หรือของเล่น ดังนั้นเห็นเมื่อเด็กพูดคนเดียว ไม่ได้แปลว่าเขาพูดกับผี แต่เขาอาจกำลังสื่อสารกับเพื่อนในจินตนาการ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติและเป็นพัฒนาการตามวัย


“เพื่อนในจินตนาการ” สามารถเกิดได้กับเด็กทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กวัยก่อน 7 ขวบ ที่เริ่มเรียนรู้และเข้าใจภาษามากพอที่จะสื่อสารกับคนอื่นได้ เพื่อนในจินตนาการมีความสำคัญต่อจิตใจเด็กๆ ในหลายด้านดังนี้ค่ะ


1. ช่วยเป็นเพื่อนในแบบที่เด็กๆ ต้องการ

เด็กๆ อาจต้องการเพื่อนที่สามารถคุยเล่นกับเขาได้ แต่ไม่บังคับหรือตัดสินเขาเหมือนพ่อแม่ หรือคนอื่นๆ ในชีวิต ทำให้เขามีอำนาจควบคุมชีวิตของตัวเองในบางด้านได้


2. ให้ความรู้สึกอุ่นใจเมื่ออยู่ในที่แปลกใหม่

เมื่อเด็กๆ ต้องเผชิญกับสังคมใหม่ๆ อาจเกิดความกลัวหรือกังวล การสร้างเพื่อนในจินตนาการขึ้นมาจะทำให้เด็กๆ ร้สึกอุ่นใจขึ้น เช่น เด็กที่ต้องพกเอาตุ๊กตาคู่ใจไปนอนด้วยเวลาไปค้างที่อื่น


3. ลดความรู้สึกเหงา

เด็กที่เหงา ต้องอยู่คนเดียว เช่นลูกคนเดียว หรือเด็กที่พ่อแม่ไม่ค่อยมีเวลาให้ มักสร้างเพื่อนในจินตนาการขึ้นมา เพื่อลดความรู้สึกเหงาของตัวเองลง


4. เป็นเครื่องมือเรียกร้องความสนใจ

เด็กบางคนพูดคุยกับเพื่อนในจินตนาการให้ผู้ใหญ่เห็นเพื่อเรียกร้องความสนใจ ซึ่ออาจเกิดจากเขาเรียนรู้ว่า หากทำบบนี้แล้ว ผู้ใหญ่จะให้ความสนใจเขา


5. เป็นกำลังใจ อยู่เคียงข้าง

เด็กบางคนสร้างเพื่อนในจินตนาการขึ้นมา เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ท้าทาย หรือทำให้กังวล เพื่อจะได้มีเพื่อนคอยเคียงข้าง ให้กำลังใจ และทำให้เด็กๆ รู้สึกปลอดภัยมากขึ้น


เด็กอาจคุยกับเพื่อนในจินตนาการเพื่อให้คลายเหงา


พ่อแม่ควรทำอย่างไร เมื่อลูกพูดคนเดียว?


อันที่จริงแล้ว หากมองในทางหนึ่ง เพื่อนในจิตนาการก็มีประโยชน์ต่อเด็กๆ ในหลายด้าน เช่น ช่วยให้เด็กมีพัฒนาการทางภาษาและความคิดสร้างสรรค์ หรือเป็นหนึ่งวิธีที่ช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นปัญหาที่ลูกเก็บไว้ในใจได้ หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นลูกชอบพูดคุยกับเพื่อนในจินตนาการ แนะนำให้ทำดังนี้ค่ะ


1. อยู่เฉยๆ สังเกตการณ์อยู่ห่างๆ

คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องกังวล เพราะพฤติกรรมนี้เป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้กับเด็กทุกคน และจะค่อยๆ หายไปได้เมื่อเขาโตขึ้น เพียงแต่คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตพฤติกรรมของลูกดูว่า ลูกมีความเครียดเรื่องอะไร เช่น หากลูกใช้ความรุนแรงกับเพื่อนในจินตนาการบ่อยๆ อาจเป็นได้ว่าลูกมีความเก็บกด หรือถูกกระทำความรุนแรงมาเช่นกัน


2. ปรามลูก หากลูกเริ่มใช้เพื่อนในจินตนาการสร้างปัญหา

คุณพ่อคุณแม่อาจพูดคุยกับเด็กๆ เกี่ยวกับเพื่อนในจินตนาการของเขา หากเห็นว่าเด็กๆ เริ่มใช้เพื่อนในจินตนาการสร้างปัญหา เช่น เมื่อเด็กทำผิด แต่กลัวถูกลงโทษ เด็กๆ อาจโกหกว่าเพื่อนในจินตนาการของเขาเป็นคนทำ ซึ่งเป็นการสร้างนิสัยโกหกเพื่อหนีความผิด โดยให้คุณพ่อคุณแม่ใจเย็นๆ และค่อยๆ หาทางแก้ปัญหาอย่างละมุนละม่อม

ข้อมูลเพิ่มเติม :   5 วิธีช่วยแก้ปัญหาเมื่อพบว่าลูกชอบพูดโกหก


3. ให้ความรักกับลูก

เด็กบางคนสร้างเพื่อนในจินตนาการขึ้นมาเพราะรู้สึกเหงา ขาดความรัก ขาดคนคอยอยู่เคียงข้าง ซึ่งเป็นสัญญาณว่า คุณพ่อคุณแม่ต้องมีเวลาและให้ความรักกับลูกให้มากขึ้น และอาจพูดคุยว่าลูกกำลังมีปัญหาหรือเรื่องไม่สบายใจอะไรหรือไม่ เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้ลูกได้อย่างตรงจุดค่ะ


การที่เด็กๆ พูดคุยคนเดียวจนดูเหมือนกำลังมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งที่มองไม่เห็นนั้นไม่ใช่เรื่องใหญ่ และไม่ใช่ปัญหาทางจิต แต่อาจเป็นสัญญาณเตือนที่ให้พ่อแม่หันมาให้ความรัก ความใส่ใจกับพวกเขาให้มากขึ้น คุณพ่อคุณแม่ลองสังเกตพฤติกรรมของลูกดีๆ แล้วจะพบเจอความลับที่ซ่อนอยู่ในเพื่อนในจิตนานาการของลูกเหล่านั้นค่ะ