คุยกับทนาย เมื่อลูกทำผิดกฎหมาย พ่อแม่ต้องรับโทษอย่างไรบ้าง?

01 Oct 18 pm31 16:32

เมื่อคุณพ่อคุณแม่ตัดสินใจมีลูก สังคมย่อมคาดหวังให้คุณพ่อคุณแม่เลี้ยงดู สั่งสอนลูกให้เติบโตเป็นคนที่มีคุณภาพ ไม่ให้เป็นเด็กมีปัญหา กฎหมายบางข้อจึงเกิดขึ้นเพื่อกระตุ้นให้คุณพ่อคุณแม่ดูแลใส่ใจลูกของตนไม่ให้ก่อปัญหากับสังคม โดยเฉพาะกฎหมายที่ว่า เมื่อลูกทำผิด พ่อกับแม่ต้องรับโทษด้วย กฎหมายข้อนี้มีรายละเอียดอย่างไรคุณ ศศิธร จันมทนายความผู้รู้กฎหมาย ได้มาให้คำอธิบายเอาไว้แล้วค่ะ



Q : เมื่อลูกทำผิดกฎหมาย พ่อกับแม่ต้องรับโทษจริงหรือ?

“ถูกต้องค่ะ ในทางแพ่ง เมื่อผู้เยาว์ทำผิด พ่อกับแม่ต้องรับผิดร่วมกับลูกด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่แล้ว (กฎหมายลักษณะละเมิด ม.429)  เช่น ถ้าลูกออกมาขับรถแข่งกันสร้างความเดือดร้อนรำคาญในเวลากลางคืน พ่อแม่จะอ้างว่าไม่รู้เรื่องไม่ได้ เพราะเวลากลางคืนลูกควรจะพักผ่อนอยู่ที่บ้าน แต่ในทางอาญาเด็กจะได้รับการยกเว้นโทษเพราะเหตุที่เป็นผู้เยาว์ค่ะ”


Q : พ่อหรือแม่ต้องเป็นผู้รับโทษ?

ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ลูกเป็นสิทธิของคุณแม่ ดังนั้นคุณแม่ต้องร่วมรับผิดเพียงผู้เดียว เว้นแต่คุณแม่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว แต่ถ้าเป็นกรณีที่คุณพ่อได้จดทะเบียนรับรองบุตรแล้ว ก็ต้องถือว่าเป็นบิดาโดยชอบ ย่อมต้องร่วมรับผิดกับลูกด้วยเช่นกัน แม้ว่าพ่อกับแม่จะไม่ได้อยู่ร่วมกันก็ตามค่ะ”



Q : หากพ่อแม่ใช้ลูกให้กระทำความผิด เด็กและพ่อแม่จะได้รับโทษอย่างไร?

“ในกรณีที่คุณพ่อคุณแม่เป็นคนสั่งให้ลูกทำผิด เช่น สั่งให้ลูกไปขโมยของ ตามกฎหมายอาญา ถ้าเด็กมีอายุต่ำกว่า 10 ปี ให้ถือว่าเป็นการกระทำผิดโดยขาดเจตนา เพราะเด็กไม่รู้ว่าสิ่งที่พ่อแม่ใช้ให้ทำนั้นเป็นความผิด  พ่อแม่ซึ่งเป็นผู้ออกคำสั่งก็ถือเป็นตัวการร่วม ย่อมต้องเป็นคนรับผิดชอบ แต่ถ้าเป็นกรณีที่ตัวเด็กเองก็รู้ว่าสิ่งที่ทำนั้นผิด ในทางกฎหมายให้ถือว่าเด็กกระทำผิด แต่กฎหมายอาจจะไม่ลงโทษก็ได้ คงเอาผิดแต่กับพ่อแม่ของเด็กเท่านั้นค่ะ”


แม้กฏหมายการเอาผิดผู้ปกครองเมื่อเด็กกระทำผิดนั้น จะทำให้ผู้ปกครองบางท่านรู้สึกยุ่งยากใจอยู่บ้าง แต่ Happy Mom.Lifeเชื่อว่า กฎหมายข้อนี้น่าจะมีขึ้นเพื่อกระตุ้นให้ผู้ปกครองใส่ใจ ดูแลเด็กๆ ในปกครองให้มากขึ้น เพราะการใส่ใจ ดูแลกัน ย่อมเป็นพื้นฐานที่ดีในการสร้างภูมิต้านทานให้เด็กๆไม่กระทำในสิ่งที่ไม่ดี รวมทั้งป้องกันปัญหาการทำผิดที่พ่อแม่สั่งให้เด็กๆ ลงมือทำ ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อสังคมค่ะ